ทั่วโลกรอเก็บภาพดาวหางที่ไม่เหมือนใคร
ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เหล่าผู้คนทั่วโลกต่างตั้งตารอ นั่นคือ การเผยโฉมของดาวหางดวงใหม่ “นีโอไวส์” (NEOWISE) ที่กำลังจะพุ่งเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ตามคำยืนยันขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา (NASA) ที่ระบุว่า ดาวหางนีโอไวส์ จะส่องแสงสว่างมากกว่าทุกครั้ง และอยู่ใกล้มากที่สุดเช่นเดียวกัน แต่ก่อนได้ชมภาพดาวหางนีโอไวส์ เราลองไปทำความรู้จักดาวหางดวงนี้กันก่อนดีกว่า
ดาวหางนีโอไวส์ ถูกค้นพบเมื่อไหร่ ?
สำหรับ “ดาวหางนีโอไวส์” นั้น ถูกค้นพบครั้งแรกโดยยานอวกาศ NEOWISE ซึ่งเป็นอดีตกล้องโทรทัศน์อวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 และในเดือนกันยายน 2556 ซึ่งเป็นภารกิจช่วยเหลือ NASA สำรวจวัตถุใกล้โลก
หลังจากนั้น ดาวหางนีโอไวส์ ได้ปรากฏตัวอีกครั้งบนภาพถ่ายในโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEOWISE ย่อมาจาก Near-Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้น ดาวหางนีโอไวส์ มีความสว่างโชติมาตร 17
ต่อมา ดาวหางนีโอไวส์ ปรากฏให้เห็นอีกครั้ง ในภาพถ่ายจากยานโซโฮ ซึ่งเป็นยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมรอบดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 22-28 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยค้นพบว่า ดาวหางมีความสว่างมากขึ้นกว่าเดิม และยังอยู่ในสภาพที่ดี ทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสันนิษฐานว่า ดาวหางนีโอไวส์ มีแนวโน้มที่จะสว่างเพิ่มขึ้นทุกวัน จนอาจสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ทำความรู้จัก ดาวหางนีโอไวส์
ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ ดาวหาง C/2020 F3 เป็นดาวหางคาบยาว ซึ่งสามารถเห็นหางที่ได้ชัดถึง 2 แฉก โดยหางส่วนบน เรียกว่า “หางไอออน” จะมีความยาวมากกว่าหางส่วนล่าง แต่จะสว่างน้อยกว่า เนื่องจากว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแก๊สที่อยู่รอบดาวหาง แล้วแตกตัวออกเป็นไอออน
ขณะที่หางส่วนล่างจะมีความฟุ้ง ทั้งสะท้อนรับกับแสงของดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี เรียกว่า “หางฝุ่น” ที่เกิดจากอนุภาคฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากนิวเคลียสขณะที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ปรากฏเป็นแถบโค้งสว่างไปในทิศทางเดียวกับการโคจรนั่นเอง
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ คือ วันที่ 23 กรกฏาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอประมาณ และคาดว่า มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 3.6 แม้เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดินก็มีโอกาสเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดาวหางเข้าใกล้โลกมากที่สุด ก่อนที่ความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถมองเห็นได้
ที่มา : NASA, NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
READ MORE :
- 5 ข้อควรรู้ – ซื้อดวงดาวคืออะไร? ขั้นตอนในการสั่ง ราคาเท่าไหร่
- ล่าแสงเหนือที่ยุโรปได้ที่ประเทศไหนบ้าง ควรไปช่วงเดือนไหนดี?
- REALME X3 SUPERZOOM มาพร้อมกล้องที่เหนือชั้น! ถ่ายดวงดาวได้
- กางเต็นท์ดูดาว 2562 ที่ไหนดี ? ต้อนรับหน้าหนาวช่วงปีใหม่ 2563