เปิดแผนฟื้นฟูอาเซียน หลังการแพร่ระบาด #COVID19
แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศของภูมิภาคอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่มาตรการป้องกัน #โควิด19 ขั้นพื้นฐาน อย่างการเว้นระยะห่างทางสังคมก็ยังจำเป็นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและเลขาธิการอาเซียน ได้ตัดสินใจจัด “การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36” ขึ้น ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563
โดยการจัดประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดจากวิกฤต COVID-19 ของภูมิภาคอาเซียนไปด้วยกัน ร่วมถึงมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค ตลอดจนหาแนวทางรับมือปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
และภายในที่ประชุมดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้เสนอ 3 แนวทาง เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลัง COVID-19 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. เร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC) 2025
พร้อมส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่ออาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า อาเซียนควรเริ่มพิจารณาแนวทางการผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทางระหว่างกันของประชาชน
2. เร่งขับเคลื่อนบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน และเร่งลงนาม RCEP ภายในปีนี้
เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในช่วยให้อาเซียนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้น ตลอดจนต้องต่อยอดจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตาม “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”
3. เร่งเตรียมความพร้อมต่อความผันผวน และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อวางแนวทางให้แก่อาเซียนในอนาคต โดยต่อยอดจากความสำเร็จต่างๆ และควรครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการป้องกันแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ด้วย
นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังมีความยินดีต่อข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เรื่องกลไกระดับภูมิภาคของภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนให้คณะกรรมการที่ปรึกษาธุรกิจพิเศษทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานโควิด-19 ภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งและกลับมาเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดอีกครั้ง
ที่มา : ข่าวทำเนียบรัฐบาล
READ MORE :
- 4 มาตรการ พักชำระหนี้ ระยะที่ 2 จะช่วยเราได้แค่ไหนนะ?
- ทำความรู้จัก Travel Bubble นโยบายจับคู่ประเทศเที่ยว คืออะไร ?
- อัปเดต ! วันหยุดราชการเดือนกรกฎาคม 2563 มีวันไหนบ้าง ? ธนาคาร-ไปรษณีย์ไทย หยุดไหม
- เช็คเลย ! สายการบิน-ท่าอากาศยาน กลับมาเปิดให้บริการแล้ว
- 4 บริการแบบ ‘Low-Contact Commerce’ พุ่งสูง ตอบรับ Social Distancing