ผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา ต้องรู้
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาน่าห่วงอีกครั้ง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ภายในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลักพันรายต่อวันขยับไปแตะหลักหมื่นราย และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ปรากฎว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 13,182 ราย ทั้งยังพบว่า กรุงเทพฯ มียอดติดเชื้อโควิดสูงสุดอันดับที่ 1 ของประเทศ ตามด้วย สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรสาคร นครราชสีมา ราชบุรี มหาสารคาม และเชียงใหม่
แน่นอนว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนสร้างความวิตกแก่ประชาชนไม่น้อย แต่ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ไม่ต้องห่วงเพราะสำนักงานประกันสังคมพร้อมจ่ายชดเชยให้ทุกมาตรา ส่วนแต่ละมาตราได้รับเงินชดเชยอะไรบ้าง หรือมีเงื่อนไขอย่างไร ตาม Promotions.co.th ไปดูคำตอบกัน
หากผู้ประกันตนติดโควิด ประกันสังคมชดเชยอะไรบ้าง
ผู้ประกันตน มาตรา 33
กรณีลาป่วย : ได้รับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง
หยุดรักษาตัว : หากต้องหยุดรักษาตัวเกิน 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้จากประกันสังคม นับตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย
- ได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน
- ยกเว้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
ผู้ประกันตน มาตรา 39
- รับเงินทดแทนขาดรายได้ 50% โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบ (4,800 บาท)
- ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน
- ยกเว้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
หมายเหตุ : สำนักงานประกันสังคม จะพิจารณาเอกสารหลักฐานและใบรับรองการแพทย์ของผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่นำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข
ผู้ประกันตน มาตรา 40
รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามทางเลือก 1 – 2 – 3 โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐาน และใบรับรองแพทย์ ซึ่งต้องมีการนำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน ก่อนประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ดังนี้
กรณีทุพพลภาพ : ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ โดยเบื้องต้นต้องจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 6 เดือน ภายในระยะเวลา 10 เดือนก่อนทุพพลภาพ
- รับ 500 บาทต่อเดือน เมื่อจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 12 เดือน ภายในระยะเวลา 20 เดือนก่อนทุพพลภาพ
- รับ 650 บาทต่อเดือน เมื่อจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 24 เดือน ภายในระยะเวลา 40 เดือนก่อนทุพพลภาพ
- รับ 800 บาทต่อเดือน เมื่อจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 36 เดือน ภายในระยะเวลา 60 เดือนก่อนทุพพลภาพ
กรณีเสียชีวิต : ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือนก่อนเสียชีวิต โดยผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพด้วย

หายป่วยจากโควิด-19 ต้องกักตัวที่บ้านต่อหรือไม่
จากข้อมูลแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงเกณฑ์อนุญาตให้ผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากโรงพยาบาลไว้ดังนี้
ผู้ป่วยที่สบายดีหรือไม่มีอาการ
ได้กำหนดเกณฑ์หายป่วยของกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการไว้ ระบุว่า ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) หรือรักษาตัวในสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน ส่วนใครที่จำต้องรักษาตัวที่สถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล 5-7 วัน เมื่อออกมาแล้วให้กลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน
ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยให้รักษาตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วันนับจากวันที่มีอาการ โดยรับประทานยารักษาตามอาการที่เป็น และเมื่อครบ 10 วันจะถือว่าหายป่วยแล้ว เช่น ตรวจพบเชื้อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ แต่เริ่มมีอาการวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ก่อนอาการดีขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ กรณีนี้ให้เริ่มนับจากวันที่มีอาการคือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ไปอีก 10 วัน จะตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นั่นเท่ากับว่าคุณหายป่วยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะออกจากโรงพยาบาลได้ก็ต่อเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว โดยจะต้องกักตัวต่อที่บ้าน ระยะเวลารวมอย่างน้อย 20 วัน นับจากวันที่มีอาการ
นอกจากนี้ผู้ป่วย COVID-19 ทั้ง 3 กลุ่ม เมื่อหายป่วยและได้ออกจากโรงพยาบาลหลังเข้ารับการรักษาจนเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อและอยู่ระหว่างที่ร่างกายฟื้นตัว ด้วยเหตุนี้เองผู้ที่หายป่วยโควิด-19 จึงไม่ต้องแยกกักตัวต่อ ทั้งสามารถไปทำงานได้ตามปกติ
อ้างอิงข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
READ MORE :
- ประกันภัยสุขภาพ ปรับเกณฑ์เคลมโควิดใหม่ เริ่ม 15 ก.พ.
- ฉีดซิโนแวค และ ซิโนฟาร์ม ให้เด็กได้แล้ว เร่งขยายกลุ่มอายุ 3 – 5 ปี
- ชี้แจง พกหน้ากากไปต่างประเทศ เกิน 30 ชิ้น ไม่มีความผิด
- สูตรวัคซีนเข็ม 4 แบบไหนถูกต้อง ฉีดอะไร เว้นระยะเท่าไหร่