พบวัคซีนต้าน #COVID19 ประสบผลสำเร็จ เล็งเดินหน้าฉีดสู่คน
เรียกว่าถือเป็นข่าวดี ! ที่หลายคนต่างรอคอย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่องวัคซีนโควิด-19 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยระบุว่า ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยโดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิง หลังจากเข็มที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ.แก่งคอย จ.สระบุรี) ที่ได้รับการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สามารถวัคซีนได้ในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ และลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีนต้านโควิด-19
ทั้งนี้ หลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ทีมนักวิจัยได้เจาะเลือดมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีชนิดที่ยับยั้งเชื้อหรือ Neutralizing antibody นั้น ถือเป็นข่าวดีมากที่พบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน
และในการดำเนินการขั้นต่อไป นั่นคือ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเร่งผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “CU-Cov19” เพื่อให้พร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ตามแผนที่วางไว้
การทดสอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในมนุษย์ จะเริ่มเมื่อไหร่ ?
โดยจะเริ่มรับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุ 18-60 ปี ในเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน 2563 ทั้งนี้ จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกในมนุษย์ ในเดือนตุลาคมนี้ สำหรับการทดสอบนั้นจะทำทั้งหมด 3 ระยะ ประกอบด้วย
(1) ศึกษาความปลอดภัย คาดว่า ต้องใช้กลุ่มอาสาสมัครขนาดน้อย เป็นหลักสิบหรือหลักร้อยต้น
(2) ศึกษาผลของยาหรือวัคซีน จะใช้อาสาสมัครเป็นหลักร้อย
(3) ศึกษาประสิทธิภาพ น่าจะใช้อาสาสมัครเป็นหลักพันหลักหมื่น เนื่องจากต้องมีการเปรียบเทียบกลุ่มที่ให้ยาหรือวัคซีน กับกลุ่มที่ให้ยาหลอก แต่ถ้ามียาหรือวัคซีนที่ใช้ได้ผลแล้ว จะต้องเอายาหรือวัคซีนนั้น มาเป็นตัวเปรียบเทียบ
ทั้งนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนคาดว่า คนไทยจะได้ใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือ “CU-Cov19” ช่วงประมาณกลางปี หรือปลายปี 2564
อย่างไรก็ดี แม้ว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะเป็นสิ่งเร่งด่วนของไทย แต่ทุกอย่าง ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยมาอันดับหนึ่งด้วยเช่นกัน
ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
READ MORE :
- การ์ดอย่าตก ! แนะข้อปฏิบัติเที่ยวชายหาด ยังไงถึงปลอดภัย ลดเสี่ยง COVID-19
- ระวัง ! หมอจุฬาฯ เตือนว่ายน้ำในสระเสี่ยงติด COVID-19 ชี้คลอรีนไม่ใช่ยาวิเศษ
- แพทย์ศิริราช แนะวิธีป้องกันการโรค #COVID19 ระบาด รอบ 2
- ห้ามนั่งหน้า – GRAB ออกมาตรการ ผู้โดยสารนั่งหลัง กัน COVID-19