กรมรางฯ ผ่อนคลายมาตรการป้องกัน COVID-19
หลังเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ผ่อนปรนให้โดยสารรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง โดยที่สามารถนั่งติดกันได้ เพื่อเตรียมการรองรับการกำหนดมาตรการดูแลผู้โดยสารในช่วงเปิดเทอมของนักเรียน นักศึกษา ในต้นเดือนกรกฎาคม 2563
และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 กรมการขนส่งทางราง ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกัน COVID-19 ในระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางในระบบขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการ แต่ยังคงเฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำ โดยขอให้หน่วยงานที่ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบ และผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
สำหรับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง ตามประกาศกรมการขนส่งทางราง เรื่องการผ่อนคลายมาตรการพึงปฏิบัติด้านการจัดการระบบขนส่งทางราง ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ประกอบด้วย
- การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
- บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
- บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)
- บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS)
ข้อปฏิบัติที่ผู้ให้บริการรถไฟ-รถไฟฟ้า ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด
(1) ให้ผู้โดยสารนั่งติดกันได้เต็มความจุมาตรฐานของขบวนรถ แต่ไม่หนาแน่นหรือเบียดเสียด
(2) คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าระบบ
(3) ประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังเข้าใช้บริการในระบบ พร้อมทั้งจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์บริการภายในสถานีอย่างเพียงพอ
(4) ประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทั้งภายในสถานีและขบวนรถ รวมถึงงดคุยหรือหันหน้าเข้าหากันระหว่างเดินทาง
(5) เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด เช็ด พ่น ฆ่าเชื้อโรคบริเวณจุดมือสัมผัส ทั้งภายในสถานีและขบวนรถ
(6) ใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ
ข้อปฏิบัติที่ผู้ใช้บริการรถไฟ-รถไฟฟ้า ควรทำตามอย่างเคร่งครัด
(1) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ ทั้งภายในสถานีและขบวนรถ
(2) งดการสนทนาและไม่หันหน้าเข้าหากันภายในขบวนรถ
(3) หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลาหรือในขบวนรถที่มีความหนาแน่นแออัด และพึงระวังการเบียดเสียดหรือการสัมผัสผู้อื่น
(4) หมั่นใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทั้งก่อนและหลังการใช้บริการในระบบ และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า
(5) ใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะภายในสถานีและขบวนรถเผื่อกรณีสอบสวนโรค
ที่มา : กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
READ MORE :
- ฟังชัด ๆ !! ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน ถึง 30 ก.ย. คุมโควิด-19
- ข่าวดี ! ลดส่งเงินสมทบประกันสังคม เหลือฝ่ายละ 2% ต่ออีก 3 เดือน
- MRT สายสีน้ำเงิน ค่าโดยสารเท่าไหร่ ผ่านสถานีไหนบ้าง
- การ์ดอย่าตก ! แนะข้อปฏิบัติเที่ยวชายหาด ยังไงถึงปลอดภัย ลดเสี่ยง COVID-19
- แพทย์ศิริราช แนะวิธีป้องกันการโรค #COVID19 ระบาด รอบ 2