ขยายเวลา #พรกฉุกเฉิน 1 เดือน ทุกท้องที่
ตามที่ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต่อไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 พร้อมเตรียมเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้พิจารณามติยืดอายุ #พรกฉุกเฉิน อีกครั้ง
และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ประชุม ศบค. มีมติขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กำลังจะสิ้นสุดการประกาศวันที่ 31 สิงหาคามนี้ โดยจะต่อไปอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 พร้อมยืนยันว่า การยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และยังสามารถดำเนินการจัดการชุมนุมได้
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค. ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยระบุว่า สถานการณ์นอกประเทศว่ายังมีการติดเชื้อ #โควิด19 สูงอยู่ ส่วนในประเทศมีการผ่อนคลายต่าง ๆ เหมือนปกติไปแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่จะนำมาบังคับใช้ในเรื่องต่าง ๆ ยังเข้าไปใช้ไม่ได้เต็มที่ จำต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาบังคับใช้กฎหมายบางตัวที่ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ไม่สามารถทำได้
อำนาจตามกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
(1) การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง
(2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย
(3) มาตรการการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง
กลไกการปฏิบัติงาน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างเพียงพอตามภารกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19
ที่มา : ไทยคู่ฟ้า