เลือกตั้งผู้ว่ากทม. 2565 ตรวจสอบรายชื่ออย่างไร?
เตรียมนับถอยหลังเข้าสู่วันเลือกตั้งครั้งสำคัญ เลือกตั้งผู้ว่ากทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) ที่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 โดยในปีนี้การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 11) ซึ่งขณะนี้ทางกรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้ประชาชนได้ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว! โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้โดยการกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อใช้ในการค้นหา หากใครยังไม่ทราบรายละเอียดว่าสามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใดบ้าง วันนี้ Promotions.co.th ได้รวม 3 วิธีตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2565 ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก พร้อมด้วยข้อมูลจำเป็นเกี่ยวกับขั้นตอนการเลือกตั้งมาฝาก
3 ช่องทางตรวจสอบรายชื่อเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก
ก่อนหน้านี้ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ได้มีการเร่งเดินหน้าขอคะแนนเลือกตั้งจากประชาชน ด้วยการเสนอนโยบายต่าง ๆ ที่(อาจ)เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยจำนวนตัวเลขของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อยู่ที่ 31 ราย และผู้สมัคร ส.ก.มีทั้งหมด 382 ราย ส่วนจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 100 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 4,481,068 ราย
ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งฯ จะต้องมีรายชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้ง (กรุงเทพมหานคร) มาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีเท่านั้น! (นับถึงวันเลือกตั้ง) หากมีการย้ายทะเบียนบ้านจากเขตหนึ่งไปอีกเขตหนึ่ง รวมกันแล้วมีระยะเวลาติดต่อกันครบ 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ก็สามารถใช้สิทธิได้ตามเขตที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้น โดยขณะนี้ประชาชนกว่า 4 ล้านสิทธิ สามารถตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งได้ 3 ช่องทาง ดังนี้
- เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/ จากนั้นกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัง ระบบจะแสดงข้อมูล วันที่เลือกตั้ง, ชื่อ – นามสกุล, สิทธิการเลือกตั้ง, เขตเลือกตั้ง, หน่วยเลือกตั้ง, สถานที่เลือก และลำดับในบัญชีรายชื่อ
- ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผ่านแอปพลิเคชั่น Smart Vote ที่มีข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีขั้นตอนดังนี้
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Smart Vote
- คลิ๊กคำว่า ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ แล้วเลือกคำว่า ‘ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง/ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง’
- จากนั้นจะพบแถบสีเขียวระบุว่า ‘ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น’
- กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก
- รอระบบดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่องทางปกติ ประกอบด้วย ศาลาจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอ, ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับจุดเลือกตั้ง หรือตรวจสอบผ่านเอกสารแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกที่ตั้งที่แจ้งไปยังเจ้าบ้าน
ทั้งนี้ หากพบว่าตนเอง หรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่มีรายชื่อเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนเองโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริง สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อได้ โดยใช้เอกสารเพียง 2 อย่างคือ สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ไปแสดงให้เจ้าหน้าที่
สรุป! ขั้นตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก ไม่อยากบัตรเสียต้องระวัง
บัตรเลือกตั้งสีไหน ใช้เลือกอะไรบ้าง?
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก ในครั้งนี้จะมีบัตรเลือกตั้งจำนวน 2 ใบ โดยทางคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการกำหนดสีบัตรสำหรับลลงคะแนนแต่ละประเภทเอาไว้ ดังนี้
- เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : ใช้บัตรสีน้ำตาล
- เลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. : ใช้บัตรสีชมพู
ขั้นตอนการเข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก
- ตรวจสอบรายชื่อและลำดับในการเลือกตั้ง ผ่านทางช่องทางข้างต้น (หรือตรวจสอบรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง)
- แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานบัตรประจำตัวที่ทางราชเป็นผู้ออกให้ โดยบัตรต้องมีภาพถ่ายและเลขบัตรประชาชนชัดเจน พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
- จากนั้นลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ และรับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบจากเจ้าหน้าที่
- เมื่อเข้าคูหาแล้วให้ทำเครื่องหมาย ‘กากบาท’ ลงในช่องหมายเลขผู้สมัครแบบเต็มช่อง ไม่ทำสัญลักษณ์อื่นหรือเขียนเลขผู้สมัครลงไป มิเช่นนั้นจะถือว่าบัตรเสีย (ไม่ออกเสียงโหวตทำให้เสียสิทธิ)
- จากนั้นให้นำบัตรมาหย่อนลงในหีบด้วยตัวเอง โดยจะต้องหย่อนบัตรให้ถูกประเภทหีบด้วย
หากไม่ไปใช้สิทธิต้องทำอย่างไร?
ในกรณีที่ไม่สามารถออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ทั้งก่อน หรือหลังวันเลือกตั้งภายใน 7 วัน คือ
- ก่อนวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 15 – 21 พฤษภาคม 2565
- หลังวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23 – 29 พฤษภาคม 2565
โดยต้องขอรับแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 31 หรือทำหนังสือแจงเหตุที่ทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกได้ ระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เพื่อยื่นต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเขตด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือแอปฯ Smart Vote (อ้างอิง : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์)
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2565 ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก และขั้นตอนการเลือกตั้ง พร้อมด้วยข้อมูลจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เรานำมาฝาก หากใครมีสิทธิเลือกตั้งแนะนำให้ออกไปใช้สิทธิกันเยอะ ๆ นะคะ เพราะคะแนนเสียงของคุณมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ใช้สิทธิใช้เสียงเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต ที่สำคัญในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักแบบนี้อย่าลืมเตรียมตัวเองให้พร้อม สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือถ้าต้องการเพิ่มความมั่นใจให้คนรอบข้าง แนะนำให้ตรวจ ATK ก่อนออกไปใช้สิทธิ จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ / ฐานเศรษฐกิจ / ประชาชาติธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม
- ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล่าสุด 1 มิ.ย. – 31 ก.ค. 2565 รายละเอียดที่ต้องรู้
- พิธีปิดซีเกมส์ 2022 ถ่ายทอดสดช่องไหน วันที่เท่าไหร่
- เลื่อนกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ครั้งล่าสุด OCA ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว
- โรคฝีดาษลิงติดต่อทางไหน อันตรายไหม พร้อมแนะนำวิธีการป้องกัน