อย่ารอจนเป็นหนี้เสีย !
ในหน้านี้มีอะไรบ้าง?
หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยได้รับผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องสุขภาพ การใช้ชีวิต และสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีกิจการหรือธุรกิจหลายประเภทจำต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวอันเนื่องมาจาก #โควิด19 ทำให้ขาดรายได้มาจุนเจือตนเองและครอบครัว
ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่ได้นิ่งเฉย สรรหามาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ทั้งทางตรง-ทางอ้อม อาทิ การขอให้สถาบันการเงินออกมาตรการพักชำระหนี้ อาทิ…
- สินเชื่อเพื่อธุรกิจ
- สินเชื่อบ้าน
- สินเชื่อบัตรเครดิต
- สินเชื่อส่วนบุคคล
- สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละสถาบันการเงิน ก็มีความแตกต่างกันออกไป อย่างการปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 60% เป็นระยะเวลา 12 เดือน / พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุดไม่เกิน 24 เดือน หรือปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น
และอย่างที่ทราบกันดีว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทย จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่สภาพเศษฐกิจยังคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการฟื้นฟู ทั้งส่วนผู้ประกอบการและคนทำงาน ประกอบกับมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจไม่เพียงพอ จนมีแนวโน้มว่าจะลูกหนี้จะผ่อนต่อไม่ไหว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอ 8 ทางเลือก เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ อีกทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการและคนทำงานสามารถดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยหวังลดโอกาส “ลูกหนี้ดี” กลายเป็น “ลูกหนี้เสีย”
8 ทางเลือก ปรับโครงสร้างหนี้ สู้ภัยโควิด-19 มีอะไรบ้าง ?
1. ยืดหนี้
เป็นการยืดหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อช่วยให้ภาระการผ่อนสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง อาทิ มีกำหนดผ่อนชำระหนี้สินเชื่อ เป็นเวลา 10 ปี เมื่อผ่อนมาแล้ว 6 ปี แต่รู้สึกว่า ไม่สามารถผ่อนชำระยอดเดิมไหว ก็ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนปรับลดลง
2. พักชำระเงินต้น
ช่วยลดภาระการผ่อนชั่วคราว โดยปกติค่างวดที่ผ่อนชำระประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เงินต้นกับดอกเบี้ย โดยอาจพิจารณาพักชำระเงินต้น เป็นเวลา 3–6 เดือน แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ลูกหนี้อาจนำเงินก้อนมาโปะ เพื่อลดหนี้ก่อนถึงกำหนดตามสัญญา
3. ลดอัตราดอกเบี้ย
เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ย่อมทำให้ค่างวดที่จ่ายแต่ละเดือนแบ่งไปตัดลดเงินต้นได้มากขึ้น และเมื่อเงินต้นลด ภาระดอกเบี้ยก็จะลดลงเช่นกัน
4. ยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
ซึ่งจะทำให้ค่างวดที่ผ่อนเข้ามาสามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย
5. เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน
เพื่อเสริมสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่าง ๆ ภายในประเทศ การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจในยามประสบวิกฤติโควิด-19 ให้มีโอกาสฟื้นกลับอย่างรวดเร็ว
6. เปลี่ยนประเภทหนี้
สำหรับหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยแพง ควรถูกเปลี่ยนประเภทเป็นหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยถูกลง อาทิ เปลี่ยนจากหนี้สินเชื่อดอกเบี้ยสูง มาเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า
7. ปิดจบด้วยเงินก้อน
เพื่อลดภาระดอกเบี้ย หากคุณมีความสามารถหาเงินก้อนมาโปะได้ ไม่ว่าจากเงินออม ยืมญาติ หรือจากการขายทรัพย์สิน ต่อให้เงินก้อนดังกล่าวไม่มากเท่ายอดหนี้ที่มีอยู่ ก็สามารถเจรจาขอส่วนลดให้เพียงพอต่อการปิดหนี้จบทั้งบัญชีได้
8. รีไฟแนนซ์
การรีไฟแนนซ์หรือขอปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิม และย้ายไปใช้สินเชื่อของเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า อาทิ อัตราดอกเบี้ยถูกลง เป็นต้น
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
READ MORE :
- 5 สถาบันการเงิน มีคนหาพักชำระหนี้สูงสุดช่วงต้นเดือน กรกฎาคม 63
- รีไฟแนนซ์รถยังผ่อนไม่หมด – 10 บริษัทยอดฮิต เอาชัดๆ ที่ไหนดี?
- มาอีก! วิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ ที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ควรรู้
- เปิดมาตรการ พักชำระหนี้ Next Capital – วิธีลงทะเบียน
- ได้เหรอ? ใช้บิลโทรศัพท์ กู้เงิน แทนเสตทเมนท์ เงินเดือน ปลดหนี้นอกระบบ