ไขข้อสงสัย ! คลอรีนฆ่าเชื้อโควิดในสระว่ายน้ำได้จริงหรือ
หลังจากที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการ ระยะที่ 2 ส่งผลให้กิจการต่าง ๆ สามารถเปิดบริการได้อีกครั้ง และหนึ่งในนั้น คือ การเปิดให้บริการของสระว่ายน้ำทุกแห่ง แต่มีข้อกำหนดการใช้บริการไว้คร่าว ๆ ดังนี้
- สระว่ายน้ำทุกแห่ง เปิดได้ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.
- ให้ใช้บริการได้คนละไม่เกิน 1 ชั่วโมง
- ผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำ ต้องสวมหน้ากากทั้งก่อนและหลังลงสระ
- งดการเรียนการสอนทุกประเภท
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการหรือเจ้าของสระว่ายน้ำ ต้องมีระบบคัดกรองผู้มาใช้สถานที่ จำกัดจำนวนการใช้หรือลงสระว่ายน้ำ และมีมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่ให้เกิดการใกล้ชิดกันในการเข้าใช้พื้นที่ รวมทั้งต้องขอความร่วมมือผู้มีอาการโรคทางเดินหายใจ ควรงดมาใช้บริการจนกว่าจะหายดี
แต่ไม่ว่า ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน #โควิด19 ที่ทำกันมาตลอดระยะเวลาหลายเดือนอย่างเคร่งครัด ก็ยังมีคำถามชวนสงสัยว่า ว่ายน้ำในสระจะเสี่ยงติด COVID-19 หรือไม่ ? สำหรับคำถามนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไขข้อสงสัยผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” มีใจความสำคัญว่า
สำหรับ “สระว่ายน้ำ” นั้น ถือเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ไม่ว่าจะแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรืออื่น ๆ โดยเหตุผลที่ทำให้สระว่ายน้ำกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค มี 3 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย
เหตุผลข้อที่หนึ่ง
สระว่ายน้ำเป็นสถานที่ที่มีคนมาใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อจึงเป็นได้ทั้งจากการใกล้ชิด สัมผัสตัวกัน สัมผัสละอองฝอยน้ำลาย หรือสิ่งคัดหลั่งขณะพูดคุยเล่น หรือแม้แต่การเผลอกินน้ำในสระที่ปนเปื้อนน้ำลาย เสมหะ อาเจียน ปัสสาวะ อุจจาระที่เล็ดออกมา
เหตุผลข้อที่สอง
เป็นที่ที่คุณภาพและความปลอดภัยของคนมาใช้บริการต้องอาศัยการบำรุงดูแลรักษาตามมาตรฐานทางสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด หากละเลยเพิกเฉยหรือหย่อนยาน คนที่มาใช้บริการก็จะตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่รู้ตัว และยากต่อการตรวจสอบจนกว่าจะเกิดเรื่องใหญ่โตขึ้นมา
เหตุผลข้อที่สาม
“คลอรีน” ไม่ใช่ยาวิเศษที่ฆ่าเชื้อได้ทุกอย่าง มีเหตุการณ์ในอดีตหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลให้คนป่วยจากการไปว่ายน้ำ โดยเคยมีงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้คลอรีนอยู่ในระดับมาตรฐานก็อาจยังมีปนเปื้อนได้ ดังนั้นก็ต้องไปใช้บริการอย่างระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ
สำหรับ “โควิด-19” (COVID-19) นั้นก็เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง จึงต้องไม่ประมาท ผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำควรเคร่งครัดในมาตรฐานสุขอนามัย ดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้นอย่างสม่ำเสมอ วัดปริมาณคลอรีนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและวัดบ่อย ๆ จำกัดปริมาณคนใช้บริการ ตรวจวัดไข้ทุกคน ใครมีอาการไม่สบายไม่ว่าจะน้อยเพียงใดก็ต้องห้ามเข้าใช้บริการ และสำคัญไม่แพ้กันคือ ช่วงไหนใครไม่ลงน้ำก็ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ อยู่ห่าง ๆ กัน
ส่วนประชาชนที่วางแผนจะใช้บริการสระว่ายน้ำก็ควรประเมินสุขภาพตนเอง ถ้าช่วงที่ยังมีโรคระบาดโดยยังไม่มียามาตรฐานรักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน เลี่ยงไปออกกำลังกายแบบอื่นจะปลอดภัยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าพูดตรง ๆ หากไม่มีสระว่ายน้ำในบ้านเป็นส่วนตัวแล้ว น่าจะปล่อยให้เหล่านักกีฬาว่ายน้ำไปใช้บริการไปก่อนน่าจะดีกว่า
แต่สำหรับคนที่อยากเรียนว่ายน้ำ ควรนัดเรียนกับครูเขาเป็นส่วนตัวก็น่าจะดีกว่าเป็นกลุ่มโดยควรแน่ใจว่าทั้งคุณครูและลูกศิษย์ได้ตรวจเช็กสุขภาพแล้ว และสระที่นัดไปเรียนนั้นได้มาตรฐานและไม่แออัดจริง ๆ
สระว่ายน้ำกับโรค COVID-19โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์คณะแพทยศาสตร์…
โพสต์โดย Thira Woratanarat เมื่อ วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2020
READ MORE :
- แพทย์ศิริราช แนะวิธีป้องกันการโรค #COVID19 ระบาด รอบ 2
- สายการบินเปิดให้บริการแล้ว ราคาตั๋วเครื่องบินแพงขึ้นไหม?
- ปรับเวลาเคอร์ฟิวใหม่! ลดเวลาเป็น 5 ทุ่มถึงตี 4 เริ่มเปิดห้างใหญ่ 17 พ.ค. นี้
- COVID ในจีนกลับมาอีกครั้ง ระบาดขอบชายแดนรัสเซีย
- ตามไปดู ! เปิดเรียนยุคโควิด-19 กับ 6 แนวทางป้องกัน ลดเสี่ยงในโรงเรียน
- เด็ก กับ ผู้ใหญ่ มีอาการติดเชื้อโควิด-19 ต่างกันยังไง ?