ใช้ความเร็วเท่าไหร่ ถึงไม่โดนจับ
สวัสดีค่ะ ทุกวันนี้ใครๆก็มีรถยนต์กันใช่ไหมละค่ะ การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวถือว่าค่อนข้างสะดวกสบายแก่คนที่ชื่นชอบความเป็นส่วนตัว อีกทั้งสามารถเดินทางไปไหนได้อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนการขึ้นรถสาธารณะที่ต้องเจอผู้คนมากมายโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่การขับขี่รถยนต์ส่วนตัวก็ต้องเผชิญปัญหาการจราจรติดขัดเช่นเดียวกัน
กฏหมายการจราจรของคนมีรถยนต์ส่วนใหญ่นั้นเป็นอันรู้กันดีอยู่แล้วว่าทำแบบไหนอาจจะโดนจับหรือโดนใบสั่ง โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดความเร็วของรถในการขับขี่ ซึ่งบางคนอาจจะเคยชินกับการขับรถเร็วจนเกินอัตราที่กฏหมายกำหนดอีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย เชื่อว่าผู้ขับขี่หลายคนอาจเคยโดนใบสั่งกับทางกรมทางหลวงที่เรียกว่าไฮเทคสุดๆ กับการจับความเร็วบนท้องถนน นอกจากจะมีจดหมายและใบสั่งส่งตรงมาถึงบ้านแล้วภายในยังมีรูปถ่ายรถยนต์ พร้อมทะเบียนของเราไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีรายละเอียดในการให้ไปชำระค่าปรับเนื่องจากการใช้ความเร็วเกินที่กฏหมายกำหนด ซึ่งหลายคนยังมีข้อสงสัยกันว่าต้องใช้ความเร็วเท่าไหร่ถึงจะไม่โดนจับ
กฏหมายการใช้ความเร็วของรถ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ประกอบกับ ฉบับที่ 10 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดไว้ดังนี้
⇒ ในพื้นที่ปกติ
- สำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม หรือ รถบรรทุกผู้โดยสาร ให้ขับในเขตกรุงเทพฯ เขตเมืองพัทยา หรือ เขตเทศบาล ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ นอกเขตดัวกล่าวให้ขับไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- สำหรับรถยนต์อื่น ขณะที่ลากจูงรถพ่วง รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม หรือรถยนต์สามล้อ ให้ขับในเขตกรุงเทพฯ เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- สำหรับรถยนต์อื่นที่นอกจากระบุไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 หรือรถจักรยานยนต์ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
⇒ ในเขตพื้นที่ที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือ เขตให้ขับรถช้าๆ
ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับความเร็วบนทางหลวงนั้นกำหนดไว้ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ตามอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงชนบท
- รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถยนต์ขณะที่ลากจูงรถพ่วง หรือรถสามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม ไม่ว่าจะลากจูงรถพ่วงด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
⇒ กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 กำหนดไว้ว่าให้กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางสาย กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ดังนี้
- รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 1,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถบรรทุกอื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ในข้อ 1 รวมทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ขณะที่ลากจูงรถพ่วง ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- รถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ในข้อ 1 หรือ ข้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สรุปคือ อัตราความเร็วตามที่ พ.ร.บ จราจรทางบกนั้นได้ระบุไว้คือ รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา หรือ เขตเทศบาล หากนอกเขตดังกล่าวสามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีพ.ร.บ ทางหลวงอีกหนึ่งฉบับ ที่กำหนดให้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซต์สามารถใช้ความเร็วบนทางหลวงชนบทได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ที่ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับใครที่ไม่อยากโดนใบสั่งตามมาทีหลังแล้วละก็ควรเลือกใช้ความเร็วตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อที่จะไม่โดนใบสั่งอีกทั้งตามถนนบนเส้นกรมทางหลวงนั้นจะมีกล้องจับความเร็วใน จับรถยนต์คันที่ใช้ความเร็วเกินกำหนด และใบสั่งถูกส่งตรงถึงบ้านคุณอย่างแน่นอน
READ MORE :
- สอบใบขับขี่รถยนต์ 2562 ยากไหม ? ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ?
- รวมอุปกรณ์รถยนต์ที่ต้องหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ
- รวมสิ่งของแปลกว่าทำไมต้องมีติดรถยนต์ไว้ ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
- เทคนิค ผ่อนรถยนต์ให้หมดเร็ว ทำอย่างไร?