ดื่มฉลองเทศกาลสงกรานต์อย่างรู้ลิมิต
สวัสดีค่ะ ในช่วงสงกรานต์แทบจะทุกคนทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยต้องมีการฉลองสังสรรค์เทศกาลสงกรานต์ แน่นอนว่าก็ต้องมีการดื่ม ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ด้วย แต่หลังจากดื่มแล้วแนะนำว่าห้ามขับรถ เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ โดยในสงกรานต์ปีนี้ ก็มีมาตรการใหม่เพื่อเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย นั่นคือ หากนั่งรถโดยสารไปกับคนขับที่เมาจะต้องถูกจับด้วย แล้วถ้าดื่มแก้วสองแก้วล่ะจะเป็นอะไรไหม? หลายคนคงจะสงสัยในประเด็นนี้กันอยู่ไหมคะ ไปพบกับคำตอบกันได้เลยค่ะ
ก่อนที่จะไปรู้คำตอบว่า หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงแก้วสองแก้วจะสามารถขับรถได้หรือไม่? ก็ต้องมาทำความเข้าใจกับข้อกฎหมายที่ห้ามให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเท่าไหร่ และปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ของเครื่องดื่มแต่ละชนิดมีปริมาณเท่าไหร่ จึงจะคาดคะเนได้ว่าเมื่อเราดื่มจะยังสามารถขับรถได้ไหม ตามข้อมูลของภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงปริมาณแอลกอฮอล์ของตัวอย่างเครื่องดื่มต่าง ๆ ทั้ง 7 ชนิด ดังนี้
เครื่องดื่ม |
ปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ (ดีกรี) |
เบียร์ | 4-7 |
ไวน์ | 10-15 |
สุราไทย | 28-40 |
วิสกี้ บรั่นดี | 40-50 |
เหล้าสาโท | 7-15 |
เหล้ากระแช่ | 10-12 |
เหล้าอุ | 10 |
เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปแล้ว กระเพาะและลำไส้จะดูดซึมแอลกอฮอล์และเข้าสู่เลือด ทำให้เกิดอาการมึนเมา ในปัจจุบันเมาแล้วขับถือเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อลดอุบัติเหตุ จึงมีมาตรการรณรงค์และมีข้อกฎหมายกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ โดยจะต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สงกรานต์นี้ หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อฉลองสงกรานต์ ทางที่ดีไม่ควรขับขี่รถ แม้ว่าจะดื่มเพียงนิดหน่อย เพราะนอกจากจะผิดกฎหมาย ถูกจำคุกและถูกปรับแล้ว ยังอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงได้ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แม้มีประกันรถยนต์ก็ไม่สามารถเคลมประกันได้ เพราะเมาแล้วขับนั่นเอง
Read more…
- วิธีดูแลรถหลังกลับจากสงกรานต์ 2562
- เที่ยวสงกรานต์กรุงเทพ 2562 ที่ไหนดี ?
- ทริคเตรียมรถให้พร้อม ก่อนเดินทางไกลสงกรานต์ 2562