Covid-19 ติดซ้ำได้ไหม สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
อย่างที่ทราบกันดีว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถลดความรุนแรงหากติดเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิต และยังช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส รวมถึงยังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับสังคม ในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบได้ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่และรายเก่าที่ติดซ้ำ โดยทั่วไปพบผู้ติดเชื้อได้ทั้งแบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงทำให้หลายคนเริ่มกระตือรือร้นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 และ เข็มที่ 4
แต่…สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว อาจจะสงสัยว่าตนเองนั้นสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้หรือไม่ และควรเว้นช่วงประมาณกี่เดือน เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง รวมถึงหากได้รับวัคซีนในขณะที่ติดเชื้อจะเกิดอันตรายหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก
ติดเชื้อ Covid-19 ฉีดวัคซีนได้ไหม
ในช่วงเวลาประมาณ 2 เดือนจากการติดเชื้อโควิดและรักษาหายแล้ว ร่างกายยังมีภูมิต้านทานสูง แต่ภูมิต้านทานจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งคุณยังมีโอกาสติดเชื้อใหม่ได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ ภายใน 3 – 6 เดือนหลังหายจากโรคโควิด-19 แนะนำให้ฉีดวัคซีน 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นระดับภูมิต้านทานให้สูงขึ้น
***แนะนำเป็นวัคซีนในกลุ่ม mRNA โดยพบว่าจะมีระดับภูมิต้านทานสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
เพิ่มเติม : หากได้รับวัคซีนในขณะที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการโดยไม่รู้ตัว ไม่มีผลอันตรายใด ๆ และผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อน ไม่มีผลอันตรายเพิ่มขึ้นจากการรับวัคซีน
เชื้อ Covid-19 ติดซ้ำได้หรือไม่
ภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากได้รับเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ผู้ป่วยจะยังไม่มีการติดเชื้อซ้ำ ภายใน 1 เดือน หรือ 4 สัปดาห์ แต่หากเลยระยะเวลาดังกล่าวมา สามารถมีโอกาสที่จะติดเชื้อโควิดซ้ำได้ โดยความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำจะมีเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
วิธีป้องกันการรับเชื้อ Covid-19 เข้าสู่ร่างกาย
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
- เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 – 2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อ
- ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
- ฉีดวัคซีนให้ครบโดส และรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4)
- ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
- ควรเช็ดทำความสะอาดสิ่งของที่ได้รับมาจากพัสดุ ก่อนใช้งานทุกครั้ง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดทุกชนิด
- หากพบอาการไอ จาม มีไข้ ควรเก็บตัวอยู่บ้าน
***หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ไอมาก มีอาการเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 รีบติดต่อที่สถานพยาบาล หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
การแพร่เชื้อโควิด-19 ผ่าน 2 ช่องทาง
- การติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง (Droplet) เป็นช่องทางหลักคิดเป็นร้อยละ 80 – 90% ไม่ว่าจะผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ละอองฝอยจากผู้ป่วย
- การติดต่อผ่านการสัมผัส (Contact) การหยิบจับสิ่งของ โดยผู้ที่สัมผัสเชื้อเอามือไปสัมผัสใบหน้า จมูก ตา ปาก ซึ่งเป็นช่องทางในการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้ เพียงแต่ภายใน 3 – 6 เดือนหลังหายจากโรคโควิด-19 เท่านั้น และแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยลดความรุนแรงหากติดเชื้อ และลดการเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 และ เข็มที่ 4 มีความสำคัญอย่างมาก อย่าลืม! ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 และช่วยปกป้องให้ผู้คนปลอดภัยจากโรคนี้ได้
อ่านเพิ่มเติม
- กทม. เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิดยามค่ำ เพิ่มความสะดวกให้คนทำงานเช้า
- เชื้อโควิดอยู่ในร่างกายกี่วัน ระยะเวลาแพร่กระจายเชื้อ
- ฉีดวัคซีนแล้วประจำเดือนไม่มา เกิดจากอะไร ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่