กระดูกพรุน รู้ตัวเร็ว ป้องกันได้
ปัจจุบัน “โรคกระดูกพรุน” ได้กลายเป็นปัญหาที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เรียกว่า “โรคกระดูกพรุน” กำลังกลายเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามเราแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าตนมีอาการป่วยด้วยโรคนี้ เพราะไม่พบอาการใด ๆ จนกระทั่งล้มแล้วกระดูกหัก ถึงรู้ว่าเป็น “โรคกระดูกพรุน”
วันนี้เราได้นำข้อมูลเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน ชื่อโรคที่ฟังดูเหมือนเป็นโรคไกลตัว และดูไม่น่ารุนแรงจนถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตของเรามาฝาก เพื่อให้ทราบถึงความน่ากลัว และหาวิธีป้องกัน
โรคกระดูกพรุน คือ
เป็นโรคที่เกิดจากการที่มวลกระดูกลดลงหรือโปร่งบางมากขึ้น ทำให้โครงสร้างของกระดูกอ่อนแอลงและแตกหักได้ง่ายขึ้น โดยกระบวนการที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงนั้น เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานเป็นปี โดยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนกว่าจะเกิดกระดูกหัก หรือเกิดการค่อมโค้งผิดรูปของกระดูกสันหลังเนื่องจากกระดูกทรุดและตัวเตี้ยลงอย่างชัดเจน
และสิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน คือ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนอื่น เพียงแค่แรงกระแทกเบา ๆ หรือการไอจาม ก็ทำให้กระดูกหักได้ง่าย ๆ เช่นกัน
โรคกระดูกพรุน เกิดขึ้นได้อย่างไร
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โดยปกติกระดูกของคนเรานั้น จะมีกระบวนการหลัก ๆ อยู่ 2 กระบวนการที่สำคัญ นั่นคือ
· กระบวนการทำลาย คือ การทำลายกระดูกเก่า
· กระบวนการสร้าง คือ การสร้างกระดูกภายในร่างกายของคุณขึ้นมาใหม่ เปรียบเสมือนการซ่อมบำรุงปรับปรุงโครงสร้างต่าง ๆ นั่นเอง
โดยวัยที่อยู่ในข่ายกระบวนการสร้างจะมากกว่าการทำลาย คือ วัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาว ที่ร่างกายกำลังอยู่ในช่วงสะสมโครงสร้างกระดูก ทำให้เนื้อกระดูกมีความหนาแน่น ทั้งนี้ พบว่า ผู้ชายจะมีมวลกระดูกมากกว่าผู้หญิง
แต่ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง เมื่อขยับอายุเข้าสู่ 30 ปี เป็นต้นไป กระบวนการสร้างกระดูกของคุณจะลดลง และค่อย ๆ สูญเสียมวลกระดูก โดยเฉพาะในผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะเป็นช่วงที่เกิดการเสียมวลกระดูกมากกว่าปกติอีกประมาณ 5-10 ปี เมื่อเป็นนี้ ไม่แปลกที่สาว ผู้หญิงจึงมักมีการกระดูกพรุนและกระดูกหักจากกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย
อาการเตือนของกระดูกพรุน
ตามที่บอกตั้งแต่ต้นว่า กว่าคุณจะรู้ตัวว่า ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนไม่มีการแสดงอาการใด ๆ กระทั่งป่วยด้วยกระดูกพรุนเสียแล้ว และอาการที่มักจะมาพบแพทย์ คือ การหกล้มหรือกระแทกไม่รุนแรงแต่เกิดกระดูกหัก หรือมาพบแพทย์เพราะมีปัญหาว่าตัวเตี้ยลง หลังค่อมหรือหลังโกงว่าเดิม เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน
· เพศ อายุ เชื้อชาติ
· มีคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
· มีดัชนีมวลการต่ำเกินไป
· แอลกอฮอล์และบุหรี่
· ออกกำลังกายน้อย หรือนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ตลอดหลายปี
· การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาทิ ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะบางชนิด หรือยากันชัก เป็นต้น
· ขาดแคลเซียม วิตามินดี จะทำให้การสร้างกระดูกไม่ดีเท่าที่ควร
· ป่วยเป็นโรคที่มีผลต่อฮอร์โมนและมวลกระดูก อาทิ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร
พอเอ่ยถึงเรื่องกระดูก หลายคนอาจนึกถึงการกินยาบำรุงกระดูก ซึ่งที่จริงแล้วยังมีวิธีรักษาป้องกันภาวะกระดูกพรุนแบบอื่น ๆ อีก โดยการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนที่ดี คือ การให้ความสำคัญเรื่องอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คุณหกล้ม รวมถึงการจำกัดปัจจัยเสี่ยงที่คุณสามารถป้องกันเองได้ อาทิ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ รับประทนอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี เป็นต้น
ควรตรวจความหนาแน่นกระดูก เมื่อไหร่ ?
· ผู้ที่มีอาการปกติ และไม่มีภาวะเสี่ยงใด ๆ ควรเริ่มตรวจความหนาแน่นกระดูก เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป
· ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง อาทิ มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการเลือกดูแลสุขภาพด้วยการทำประกันสุขภาพที่ช่วยในส่วนของความคุ้มครองสุขภาพ ที่ดูแลในเรื่องของร่างกายสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
READ MORE :