ภาวะหูดับเฉียบพลัน เกิดจากอะไร ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง
ในหน้านี้มีอะไรบ้าง?
กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในโลกโซเชียลไม่น้อย กับอาการป่วยของ “เปิ้ล นาคร” พิธีกรอารมณ์ดี คุณพ่อของ 4 ออ ที่จู่ ๆ ก็โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านอินสตาแกรมว่า ขอลางาน 7 วัน หลังมีอาการหูดับเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุ โดยคุณหมอผู้ทำการรักษาระบุว่า ภายใน 7 วัน หากรักษาไม่หาย หูก็จะไม่ได้ยินไปตลอดชีวิต พอบรรดาแฟนคลับของเปิ้ล นาคร รวมถึงแฟนคลับของ 4 ออ รู้ข่าวต่างส่งข้อความให้กำลังใจเปิ้ล นาคร อย่างล้มหลาม พร้อมอวยพรขอให้หายป่วยไวไว
ขณะเดียวกัน หลาย ๆ คนก็เริ่มสงสัยว่า อาการหูดับเฉียบพลัน เกิดจากอะไร มีความร้ายแรงขนาดไหน สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ? รวมถึงมีใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้
หูดับเฉียบพลัน คืออะไร ?
สำหรับอาการหูดับฉับพลัน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “หูดับ” นั้น คือ ภาวะที่มีการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงบกพร่องที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน โดยไม่มีอาการบ่งชี้ให้รู้ตัวกันล่วงหน้า อาทิ ตื่นเช้ามาแล้ว อยู่ ๆ ก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย โดยไม่มีสาเหตุอะไรนำมาก่อน
แม้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาการหูดับฉับพลันมักเกิดขึ้นบริเวณหูชั้นใน ซึ่งเป็นอวัยวะที่เล็กมาก และด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่สามารถตรวจหรือมองเห็นได้ ส่งผลให้แพทย์ต้องใช้วิธีตรวจหาสาเหตุของอาการหูดับ ด้วยการเจาะเลือด การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจเรื่องการได้ยินในขั้นพื้นฐาน แต่ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง หรือตรวจทางรังสี
ภาวะหูดับเฉียบพลัน เกิดจากสาเหตุใด
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดอาการหูดับเฉียบพลันได้ แต่เชื่อว่า โรคหูดับนี้อาจเกิดจากเชื้อไวรัส การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน การบวมน้ำของหูชั้นใน การมีรูรั่วของท่อหูชั้นใน ก็ได้เช่นกัน
ภาวะหูดับเฉียบพลัน ที่พบบ่อย
(1) สูญเสียการได้ยินเฉียบพลันและมักเป็นในหูข้างเดียว
(2) อาจมีอาการเสียงดังรบกวนในหูข้างนั้น
(3) มีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย
ภาวะหูดับเฉียบพลัน สามารถรักษาได้หรือไม่ ?
สำหรับเรื่องนี้ อาจต้องแยกเป็นกรณี ๆ ไป เนื่องจากบางคนแค่เสียการได้ยินเหมือนหูตึง หรือบางคนดับไปเลย โดยเบื้องต้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยที่มีอาการหูดับเฉียบพลัน ทานยา เพื่อลดการอักเสบภายในหูชั้นใน แต่ถ้าทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาฉีดสเตียรอยด์ เข้าไปในแก้วหูชั้นในผ่านเยื่อแก้วหูเข้าไป เพื่อให้ตัวยาเหมือนไปขังในหูชั้นใน จากนั้นตัวยาจะแทรกซึมเพื่อลดอาการอักเสบ ซึ่งการฉีดยาเข้าไปเป็นเพียงการเพิ่มโอกาสในการรักษาเท่านั้น แต่บอกก่อนว่า วิธีการรักษาที่ว่านั้น ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ผู้ป่วยจะหายขาดจากอาการหูดับเฉียบพลัน เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีสิ่งนำ ไม่มีเหตุการณ์มาก่อน
โรคหูดับเฉียบพลัน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตไหม
แม้ว่า โรคหูดับเฉียบพลัน ไม่ใช่โรคที่รุนแรงที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต แต่ก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร เนื่องจากปกติผู้ป่วยที่มีภาวะหูดับ จะมีอาการหูดับเพียงข้างเดียว และความผิดปกติที่เกิดขึ้นมักทำให้คนไข้รู้สึกกังวลและไม่สบายใจ ทำให้ต้องใช้เวลาปรับตัวให้ชิน
วิธีดูแลตนเอง เมื่อเกิดภาวะหูดับเฉียบพลัน
เมื่อเกิดภาวะหูดับเฉียบพลัน นอกจากการปรับตัวเรื่องการได้ยินแล้ว ผู้ป่วยยังต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่เสียงดัง ๆ และต้องระวังปัจจัยที่จะมากระทบกับหูมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหูดับกับหูอีกข้างซึ่งยังไม่มีอาการ
สำหรับใครที่เกิดอาการไม่ได้ยิน หรือการได้ยินผิดปกติ แนะนำว่าให้รีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทันที เนื่องจากผู้ป่วยบางรายสามารถได้รับการได้ยินกลับคืนมาเหมือนปกติ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ในระยะแรกที่เริ่มอาการ
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท
READ MORE :
- สธ. วางนโยบายปี 63 เน้น 6 เรื่องหลัก มุ่งสร้างสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน
- ข้อดีของการพบแพทย์ ก่อนทำการดูแลสุขภาพ
- สุขภาพดีเริ่มต้นได้จากตัวเราเอง 2019
- ยิ่งเข้าวัยกลางคน เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจแล้วหรือยัง?
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เคลมประกันสุขภาพได้หรือไม่ ?