ปลูกบ้านเสร็จแล้ว ยื่นขอเลขที่บ้านได้ที่ไหน
เมื่อ “บ้าน” มีความหมายตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534 คือ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าของบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่ หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อสร้างบ้านเสร็จ ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน จำต้องไปยื่นขอเลขที่บ้าน ซึ่งมาพร้อมกับทะเบียนบ้าน หลักฐานของความเป็นบ้าน ที่ถูกนำไปใช้ประกอบการยื่นขอสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา หรือไฟฟ้า รวมการขอใช้บริการต่าง ๆ
แต่เชื่อเถอะว่า ยังมีหลาย ๆ คนที่ไม่รู้ว่า ขั้นตอนในการยื่นขอเลขที่บ้าน มีขั้นตอนอย่างไร ต้องยื่นเรื่องที่ไหน ภายในเวลากี่วัน และมีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ ? วันนี้เรามีคำตอบในเรื่องนี้มาฝาก ตามไปดูกันเลย
ต้องยื่นขอเลขที่บ้าน ภายในกี่วัน
หลังจากสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าบ้าน หรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจ ต้องแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานท้องถิ่นที่กำกับดูแลพื้นที่ดังกล่าว เพื่อขอขอเลขที่บ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สร้างบ้านเสร็จ เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้อง พร้อมหลักฐานครบถ้วน ก็จะดำเนินการตรวจสอบว่าบ้านที่ขอเลขที่นั้น มีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จากนั้น หน่วยงานท้องที่จะกำหนดเลขที่บ้านให้แก่ผู้แจ้ง ภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
- แจ้งเลขที่บ้าน ภายใน 7 วัน (กรณีบ้านปลูกอยู่ในเขตเทศบาล)
- แจ้งเลขที่บ้าน ภายใน 30 วัน (กรณีบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล)
***โดยเจ้าบ้าน (ผู้แจ้ง) จะได้รับเลขที่บ้านมาในรูปแบบเล่มทะเบียนบ้าน
ขอเลขที่บ้าน ต้องยื่นเรื่องที่ไหน ?
สำหรับสถานที่ที่เจ้าบ้าน หรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจ ต้องเดินทางไปยื่นเรื่องขอเลขที่บ้านนั้น มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
กรณีบ้านที่ปลูกอยู่ในเขตเทศบาล ที่ยังมีผู้ใหญ่บ้านอยู่ในเขตเทศบาล
ต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้าน เพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) สำหรับนำไปประกอบการยื่นคำร้องขอเลขที่บ้านที่งานทะเบียนราษฎรของทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่ เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน
กรณีปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล
ต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้าน เพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) สำหรับนำไปประกอบการยื่นคำร้องที่งานทะเบียนราษฎรของสำนักทะเบียนอำเภอที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่ เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน
เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นขอเลขที่บ้าน
1. ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) ออกโดยหน่วยงานท้องที่
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำร้อง จำนวน 1 ชุด
3. เอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดินของบ้านที่ปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ อาทิ โฉนดที่ดิน , น.ส.3, ส.ป.ก เป็นต้น และกรณีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น ต้องมีหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินนั้นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นประกอบด้วย โดยใช้เอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
– หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้าน (กรณีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น) โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดิน/ผู้ที่มีชื่อร่วมกันในกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น ๆ ทุก ๆ คน จำนวน 1 ชุด
แต่ในกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเสียชีวิต ต้องแนบสำเนามรณบัตร พร้อมให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าว ทำหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินโดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน จำนวนคนละ 1 ชุด
4. ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่ไม่หมดอายุ
5. หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรณีไม่สามารถมาติดต่อขอเลขที่บ้านได้ด้วยตนเอง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ รวมทั้งพยานบุคคล จำนวน 2 คน จำนวน 1 ชุด
6. รูปถ่ายบ้านที่สร้างเสร็จทั้ง 4 ด้าน (ซ้าย,ขวา,หน้า และหลัง)
ข้อควรรู้ ก่อน-หลังสร้างบ้าน
1. บ้านที่ปลูกสร้างโดยบุกรุกที่สาธารณะ หรือปลูกในพื้นที่ป่าสงวน สามารถขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้านได้เช่นกัน แต่จะได้เป็นทะเบียนบ้านชั่วคราวเท่านั้น
2. การไม่แจ้งขอเลขที่บ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ปลูกสร้างบ้านเสร็จเป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
3. สำหรับค่าธรรมเนียมในการยื่นขอเลขที่บ้านนั้น สามารถสอบถามกันได้ที่หน่วยงานท้องที่ที่เราไปขอเลขที่บ้านกันได้เลย
นอกจากนี้ คุณยังสามารถซื้อประกันภัยบ้านและที่อยู่อาศัย เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับบ้านของคุณได้ โดยความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหม่ หรือบ้านเก่า เพราะเหตุอัคคีภัยที่ว่า อาจมีต้นเหตุมาจากบ้านข้างเคียงก็เป็นได้ หากคุณไม่รู้ว่าควรเลือกซื้อประกันอัคคีภัยที่ไหนดี ลองดูข้อมูลผ่านทางบริษัท TQM ประกันภัย โบรคเกอร์บริษัทประกันชั้นนำกว่า 40 บริษัท ที่มีผลิตภัณฑ์ประกันอัคคีภัยมากมายที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกคน
READ MORE :
- บ้านในฝัน รับปีใหม่ เปิดตัวพร้อม 11.11 ดอกเบี้ยเท่าไหร่? ลงทะเบียนที่ไหน?
- ประกันอัคคีภัยบ้าน ที่สมัครผ่านออนไลน์ได้ ราคาเท่าไหร่ ?
- บอกลาหน้าฝน เตรียมตัวรีโนเวทบ้านใหม่ เริ่มจากตรงไหนดี?
- หลังน้ำท่วมดูแลบ้านแบบไหน และควรซ่อมตรงจุดไหนก่อน
- ต่อเติมบ้านกรณีใดบ้าง ทำได้ทันทีไม่ผิดกฎหมาย
- ประกันอัคคีภัยบ้านและทรัพย์สิน วิริยะประกันภัย ดีไหม ?