ผ่าตัดต้อกระจก เบิกประกันสังคมได้ไหม
“ดวงตา” ถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้วยเป็นหนึ่งในในประสาทสัมผัสที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก หากจู่ ๆ สุขภาพดวงตาของคุณไม่ดี หรือค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง จนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของดวงตานั้น ไม่ว่า ผลจะมากหรือน้อย ย่อมทำให้การดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคนในวัยทำงาน
และหนึ่งในอาการเสื่อมที่เกิดขึ้นกับดวงตา ซึ่งน่ากังวลและชวนสงสัยว่า หากวันหนึ่งคุณป่วยเป็น “โรคต้อกระจก” ขึ้นมา จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประกันสังคมหรือไม่ ? แต่ก่อนที่จะรู้คำตอบ ลองไปดูกันก่อนว่า โรคต้อกระจก เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร
ต้อกระจก คืออะไร ?
เป็นอาการผิดปกติอย่างหนึ่งของดวงตา หรือภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัว จนทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ ส่งผลให้การมองเห็นคุณไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัว แต่อาการที่ว่านั้น จะไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใด ๆ ทั้ง “ต้อกระจก” ไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าหากเป็นข้างใดข้างหนึ่งแล้วจะลุกลามไปอีกข้าง หรือจะลามไปติดคนที่สบตาคุณ
ต้อกระจก เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด
ต้อกระจก มีสาเหตุหลักมาจากความเสื่อมของโปรตีนที่อยู่ภายในเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์ตาขุ่น หรือนิวเคลียสแข็งขึ้น และนอกจากการเสื่อมสภาพของโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เลนส์แก้วตาเสื่อมอีก อาทิ
- อาการเสื่อมตามวัย ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งของโรคต้อกระจก
- อุบัติเหตุทางตา เช่น ตาได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง หรือถูกของแหลมทิ่ม
- แสงแดด แสงจากจอคอม และรังสีจากการเอ็กซเรย์ หรือฉายแสง
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
- ถูกใช้งานอย่างหนัก เช่น การจ้องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คเป็นเวลานาน
- ผลกระทบจากการทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความอ้วนหรือยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
ใครที่เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกบ้าง
อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่า โรคต้อกระจกนั้น เป็นโรคที่เกิดจากเลนส์ตาของคุณค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง โดยสาเหตุของอาการเสื่อมเลนส์ตาก็มีหลากหลาย ทั้งเรื่องการใช้งานดวงตาที่หนักเกิน เสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งาน หรือได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ ฉะนั้น แม้ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยโรคต้อกระจก คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่กลุ่มวัยเรียน หรือวัยทำงาน ก็อย่าประมาทก็มีความเสี่ยงเช่นกัน หากมีพฤติกรรมหรือปัจจัยดังที่กล่าวไปด้านบน
สัญญาณเตือนโรคต้อกระจก คือ
1. ตาค่อย ๆ มัวลง อย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ อาจเริ่มมีอาการที่มัวลงภายในช่วงเวลาสั้นเพียง 2-3 เดือน หรือถึงมากกว่า 10 ปีในบางราย
2. มีอาการเปลี่ยนแปลงด้านการมองเห็นอย่างเห็นได้ชัดเจน อาทิ จากเดิมสายตายาวแล้วเปลี่ยนเป็นสายตาสั้น หรือเกิดสายตาเอียงขึ้น
3. เห็นแสงแตกกระจาย เมื่อใช้สายตามองแสงแล้วจะเห็นมีลักษณะเป็นเส้น ๆ เป็นแฉก ๆ หรืออาจดูมีภาพซ้อน
4. ความสามารถในการมองเห็นในที่มืดลดน้อยลง ต้องการแสงสว่างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะพบบ่อย ๆ ในกลุ่มคนสูงวัยมาก ๆ
วิธีรักษาต้อกระจก
สำหรับการรักษาอาการต้อกระจกนั้น สามารถแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะเริ่มต้น : ซึ่งเป็นระยะแรกของการเป็นต้อกระจก โดนจะใช้วิธีการเปลี่ยนแว่นสายตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นดีขึ้นได้
ระยะยาว : เมื่อการมองเห็นของผู้ป่วยโรคต้อกระจกแย่ลง จนถึงขั้นไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ ทางแพทย์จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) และใส่เลนส์เทียมให้ผู้ป่วย
ผ่าต้อกระจก เบิกประกันสังคมได้หรือไม่ ?
สำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิการรักษาผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับกระจกตา และต้องได้รับการผ่าตัด เปลี่ยนอวัยวะกระจกตา แต่ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่สามารถใช้สิทธิการเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา ต้องเป็นกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่า
- กระจกตาเสื่อมตามอายุ
- กระจกตาผิดปกติแต่กำเนิดหรือผิดปกติทางพันธุกรรม
- กระจกตาขุ่นจากโรคทางภูมิร่างกายผิดปกติ เช่น แพ้ยาบางชนิด เป็นต้น
โดยผู้ประกันตนสามารถรับบริการตรวจรักษาอาการต้อกระจกได้ ณ สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่ตนเลือกไว้ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ถึงจะได้รับการผ่าตัด เพื่อรักษาอาการต้อกระจกแล้ว ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงที่เกิดอาการแทรกซ้อนได้อีก ฉะนั้น ควรดูแลสุขภาพตาของตน ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ สวมแว่นกรองแสง ไม่มองดวงอาทิตย์โดยตรง ระวังไม่ให้ดวงตาโดนกระแทกหรือได้รับบาดเจ็บ พักสายตาบ่อย ๆ ถ้าต้องใช้ดวงตาติดกันเป็นเวลานาน ๆ และหมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ
ข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน
READ MORE :
- รวมข้อดีของการดื่มน้ำอุ่น มีผลต่อสุขภาพอย่างไร?
- ยิ่งเข้าวัยกลางคน เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจแล้วหรือยัง?
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เคลมประกันสุขภาพได้หรือไม่ ?
- คนมีประกันสังคมเฮ! ตรวจสุขภาพฟรีปีละ 1 ครั้ง
- ประกันสุขภาพครอบครัว คืออะไร เลือกทำแบบไหนได้บ้าง