ไข้ปวดข้อยุงลาย ติดต่อทางไหนได้บ้าง ?
เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2562 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยาในไทย ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาถึง 5,996 ราย โดยมีการแบ่งช่วงอายุผู้ป่วยที่พบ ดังนี้
- อันดับ 1 คือ ช่วงอายุ 25-34 ปี
- อันดับ 2 คือ ช่วงอายุ 35-44 ปี
- อันดับ 3 คือ ช่วงอายุ 15-24 ปี
ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ ตามมาด้วยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง พอสถิติออกมาแบบนี้ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า โรคชิคุนกุนยา คืออะไร มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออกจริงไม่ และติดต่อได้ทางไหนบ้าง ?
โรคชิคุนกุนยา คืออะไร
โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งถูกแพร่กระจายโดยยุงลายสวน (Aedes albopictus skuse) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศ ทุกวัยแม้กระทั่งเด็กเล็ก มีอาการคล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก แต่โรคไข้เลือดออกจะรุนแรงมากกว่า โรคชิคุนกุนยามักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปี ทำให้ถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้เช่นกัน
ชิคุนกุนยา ติดต่อทางไหนได้บ้าง ?
สำหรับโรคชิคุนกุนยานั้น มีวงจรของโรคที่เรียกว่า “คน-ยุง-คน” นั่นคือ เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด โดยเชื้อไวรัสนั้นจะเข้าไปเพิ่มจำนวนมากขึ้นในตัวยุง และเมื่อยุงตัวนั้นไปกัดคนอื่นต่อ ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาได้
โดยโรคชิคุนกุนยามีระยะฟักตัว 1-12 วัน แต่ช่วง 2-3 วันจะพบบ่อยที่สุด ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 วัน จะเป็นช่วงที่มีไข้สูง มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก และสามารถติดต่อกันได้หากมียุงลายมากัดผู้ป่วยในช่วงนี้ และนำเชื้อไปแพร่ยังผู้อื่นต่อ
ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา มีอาการเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หรือเป็นไข้ร่วมกับอาการอื่น ๆ อาทิ
(1) มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย
(2) มีอาการตาแดง (conjunctival injection) แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว
(3) มีอาการปวดข้อ หรือพบว่าเป็นข้ออักเสบ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า โดยอาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้
(4) ปวดกระบอกตา
(5) ปวดศีรษะมาก
(6) มีเลือดออกตามผิวหนัง อาจมีอาการคันร่วมด้วย
ทั้งนี้ โรคชิคุนกุนยาสามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก
อย่างไรก็ดี อาการที่กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมดนั้น โดยเฉพาะอาการมีไข้ อาจเป็นประมาณ 1-2 วัน จากนั้นไข้จะลดลงทันที แต่อาการอื่น ๆ อย่าง อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ ยังคงอยู่อีกประมาณ 5 – 7 วัน บางรายอาจมีอาการปวดนานเป็นเดือน เป็นปี หรือปวดต่อเนื่องไปหลายปี
โรคชิคุนกุนยากับโรคไข้เลือดออก มีความแตกต่างกันอย่างไร
แม้โรคชิคุนกุนยาจะมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเหมือนกัน แต่ชิคุนกุนยาก็มีอาการแสดงแตกต่างจากไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกี ดังนี้
(1) โรคชิคุนกุนยาจะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลันกว่าไข้เลือดออก คนไข้จึงมาโรงพยาบาลเร็วกว่า
(2) ผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา จะมีไข้สูงฉับพลัน จึงพบอาการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึง 15% ซึ่งมากกว่า ไข้เลือดออก 3 เท่า
(3) ผู้ป่วยชิคุนกุนยาจะมีระยะไข้เพียง 2 วัน ซึ่งต่างกับไข้เลือดออกที่ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงใน 4 วัน
(4) โรคชิคุนกุนยานอกจากจะมีไข้สูงแล้ว ยังมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบบวมแดงมากกว่าไข้เลือดออก
(5) โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีเกล็ดเลือดต่ำอย่างมากจนมีเลือดออกรุนแรงอย่างโรคไข้เลือดออก
(6) ชิคุนกุนยา จะตรวจพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวก ซึ่งจำนวนทั้งที่เกิดเอง และจากการทดสอบจะน้อยกว่าไข้เลือดออก
(7) ไข้ชิคุนกุนยาจะไม่พบผื่นหายที่มีลักษณะวงขาว ๆ เหมือนไข้เลือดออก
(8) โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก
(9) โรคชิคุนกุนยาไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก
การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา ที่ดีที่สุด คือ
การจะทราบว่า ป่วยเป็นชิคุนกุนยาหรือไม่นั้น ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัย โดยเจาะเลือดผู้ป่วยส่งเพาะหาเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา หรือตรวจด้วยวิธีการอื่นในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย
โรคชิคุนกุนยา รักษาอย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับการรักษาและป้องกันโรคชิคุนกุนยา ทำให้ต้องใช้วิธีรักษาตามอาการ อาทิ
- หากเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ แต่ห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด
- ถ้ามีอาการปวดข้อ แนะนำให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการ
โรคชิคุนกุนยา ป้องกันได้ไหม ต้องทำอย่างไร
- ป้องกันไม่ให้ยุงกัด อาทิ ในถิ่นที่มีการระบาดของยุงลาย ให้ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายากันยุง ใช้ยาไล่ยุง หรือกางมุ้งให้กับเด็กๆ ที่นอนในบ้านถึงแม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตาม
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ด้วยการหมั่นตรวจดูแหล่งน้ำภายในบ้าน อาทิ บ่อ กะละมัง ชาม โอ่งน้ำ ตุ่ม ฯลฯ และควรหาฝาปิดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่
- ติดต่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฉีดพ่นหมอกควันตามอาคารบ้านเรือนที่มีแหล่งน้ำขังอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย
- คอยสังเกตอาการของคนรอบข้างว่ามีอาการใกล้เคียงกับโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ หากมีอาการใกล้เคียงหรือต้องสงสัยให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
ถึงแม้โรคชิคุนกุนยามักจะไม่ร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรงได้ ฉะนั้น การป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด
และเพื่อความอุ่นใจยามเจ็บป่วย การทำประกันสุขภาพติดตัวเอาไว้ เพื่อช่วยดูแลคุณยามฉุกเฉินทั้งในเรื่องค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง หรือค่าชดเชยรายได้ อาจช่วยให้คุณไม่ต้องสูญเสียเงินเก็บที่สะสมมากับการเจ็บป่วยดังกล่าว
ข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
READ MORE :
- โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทันไว้ ก่อนอาการป่วยจะมาเยือน
- โรคกระดูกพรุน คืออะไร ? ป้องกันได้หรือไม่
- คลินิกโรคจากการทำงาน คืออะไร ?
- โรคที่คนไทยป่วยมากที่สุด มีอะไรบ้าง 62
- รวมโรคติดต่อถึงกันผ่านทางน้ำลาย