ปัญหาสุขภาพ ที่มนุษย์เงินเดือนยากจะเลี่ยง !
นานาปัญหาสุขภาพเรียกว่า เป็นเพื่อนรัก แสนแค้นกับเหล่ามนุษย์เงินเดือนเลยก็ว่าได้ เพราะช่วงชีวิตหนึ่งเหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องได้ผูกมิตรกับโรคใดโรคหนึ่งเป็นอย่างน้อย ซึ่งปัญหาสุขภาพที่ว่านี้ อาจเกิดจากวิถีชีวิตการทำงานที่ต้องนั่งโต๊ะเป็นเวลานาน ๆ จนก่อให้เกิดอาการปวดหลัง ตาล้า หรือนอนไม่หลับ ล้วนเป็นอาการที่เป็นผลจากการไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายขณะนั่งทำงาน
และหนึ่งในอาการเจ็บป่วยที่พบได้กับกลุ่มมนุษย์เงินเดือน นั่นคือ “อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง” พอเอ่ยถึงอาการนี้ คงมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า กล้ามเนื้อที่สามารถยืดได้ หดได้นั้น ทำไมถึงเกิดอาการกล้ามเนื้อหดแล้วไม่คลายตัวออกได้ วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบเรื่องนี้กันค่ะ ว่าแท้จริงแล้ว กล้ามเนื้อหดเกร็งนั้น เกิดจากสาเหตุใด มีวิธีรักษาหรือบรรเทาอาการหรือไม่ ? ตามไปหาคำตอบกันเลย
กล้ามเนื้อหดเกร็ง คืออะไร ?
สำหรับกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือ MPS เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อมัดนั้นทำงานหนักและหดตัวเป็นเวลานานจนเกิดอาการปวด มักเป็นการปวดตื้อ ๆ หรือปวดร้าวในตำแหน่งกล้ามเนื้อต่าง ๆ อาการปวดที่ว่านี้ อาจเกิดขึ้นตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลาใช้งานก็ได้ ส่วนความรุนแรงของอาการปวดก็แตกต่างกันออกไป
กล้ามเนื้อหดเกร็ง เกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุหลัก ๆ ของอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งนั้น มาจากการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างไม่เหมาะสม หรืออยู่ในอิริยาบถเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน อาทิ
- นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์โดยที่ตำแหน่งและความสูงของโต๊ะ-เก้าอี้ไม่เหมาะสม
- การทำงานในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ โดยไม่ได้พัก
- ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์
- สะพายเป้ที่หนักเกินไป
- นั่งห่อไหล่เป็นประจำ
- ออกกำลังกายโดยไม่ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลัง
- นอนโดยใช้เครื่องนอนที่ไม่รับกับสรีระ ฯลฯ
ซึ่งท่าทางหล่านี้ คือ ต้นเหตุหลักที่จะทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อหดตัว ให้การไหลเวียนของเลือดติดขัด ขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้ออย่างเพียงพอ จนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดพลังงาน และมีของเสียคั่งค้าง จนนำไปสู่อาการปวดเมื่อยขึ้นมา และหากไม่รักษา หรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กล้ามเนื้อมัดนั้นอาจเกิดการอักเสบเรื้อรังกลายเป็นพังผืด หรือเมื่อคลำดูจะพบเป็นก้อนแข็ง ๆ ซึ่งเรียกว่า “จุดกดเจ็บ (trigger point)” ในที่สุด
กล้ามเนื้อหดเกร็ง มีวิธีรักษาหรือไม่ ?
สำหรับแนวทางการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งนั้น สามารถทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
การรักษาด้วยยา
เป็นการรักษาที่ปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีด อาทิ ยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาคลายกล้ามเนื้อชั่วคราว หรือยารักษาเส้นประสาทและลดอาการเกร็ง เป็นต้น
การทำกายภาพบำบัด
เป็นวิธีบรรเทาอาการปวดร่วมกับการคลายกล้ามเนื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่นแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้เกิดอาการซ้ำ ซึ่งการกายภาพบำบัดมีอยู่หลายขั้นตอน ทั้งการรักษาด้วยความร้อน การบริหารกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายโดยใช้ท่าอุปกรณ์ต่าง ๆ
การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
สำหรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ นั้น มีทั้งใช้การแพทย์ทางเลือกเพื่อรักษาอาการปวด อย่างการนวดกดจุด หรือการฝังเข็ม เนื่องจากว่าการฝังเข็มนั้นสามารถสลายพังผืดในกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบเรื้อรัง คลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งตัว และช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ดีแม้จะรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งได้แล้ว แต่ถ้าคุณยังคงใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิมอาการเจ็บป่วยดังกล่าว ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้ง ฉะนั้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม รวมถึงการออกกำลังกายควบคู่เพื่อบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้แข็งแรงและยืดหยุ่น
READ MORE :
- อาการปวดหลังของมนุษย์เงินเดือน พร้อมวิธีคลายปวด
- มนุษย์เงินเดือนต้องรู้! อาหารชนิดใดบ้าง มีประโยชน์กับสายตา
- รวมประกันที่มนุษย์เงินเดือนต้องมี!
- สิทธิประกันสังคมอะไรบ้าง ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้
- กลุ่มโรคเสี่ยง ที่มนุษย์เงินเดือนควรระวัง มีอะไรบ้าง?