เรียนรู้เพื่อนบ้านรับมือฝุ่น PM2.5
ในหน้านี้มีอะไรบ้าง?
สุขภาพเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 เพราะสุขภาพที่ดีเป็นก้าวแรกของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี หลายคนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจึงมีมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลสุขภาพตัวเอง ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย การทำประกันสุขภาพ แต่ในปัจจุบันมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบกับเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของฝุ่นควันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งฝุ่นที่คนไทยตระหนักถึงอันตราย คือ ฝุ่น PM2.5
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาจากฝุ่น PM2.5 แต่ประเทศใกล้เคียงหลาย ๆ ประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน และแต่ละประเทศก็มีวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ และลดปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน วันนี้เราจึงมาดูวิธีการที่ประเทศจีนใช้ในการป้องกันและรับมือกับปัญหาฝุ่นควันในประเทศจีน ซึ่งมีทั้งวิธีการที่ออกมาเร่งด่วนขณะเกิดฝุ่น และมาตรการที่ให้ยึดถือปฏิบัติเพื่อป้องกันฝุ่นในระยะยาว ดังนี้
การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะสั้นในประเทศจีน
การแก้ปัญหาในระยะสั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 เพียงชั่วคราว มักจะกระทำในช่วงที่เกิดฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก และต้องการวิธีการลดฝุ่นในขณะนั้นอย่างเร่งด่วน เห็นผลทันที แต่ในอนาคตฝุ่นจะกลับมาอีก
งดกิจกรรมปิ้งย่าง บาร์บีคิวในช่วงที่มีปัญหาหมอกควัน
ในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 ระบาดหนัก รัฐบาลจีนออกมาตรการงดเว้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันทั้งหมดเป็นการเร่งด่วน รวมไปถึงการรณรงค์ให้ประชาชนรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างและบาร์บีคิวให้น้อยลง การห้ามประกอบอาหารประเภทปิ้งย่างในครัวเรือน เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มปริมาณฝุ่นควันในอากาศ
ใช้โดรนพ่นสารกำจัดฝุ่นควัน
การใช้โดรนเป็นการกำจัดปัญหาฝุ่นควันในอากาศ โดยภายในโดรนจะติดตั้งสารที่มีคุณสมบัติเกาะติดกับฝุ่นแล้วทำให้ฝุ่นทิ้งตัวลงมายังพื้นข้างล่าง เป็นการช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศ
ติดสปริงเกอร์บนตึกสูงแล้วพ่นน้ำลงมา
การใช้น้ำช่วยลดความหนาแน่นของฝุ่นเป็นอีกวิธีที่รัฐบาลจีนเลือกใช้เพื่อกำจัดฝุ่น PM2.5 ในช่วงที่เกิดการแพร่กระจายของฝุ่น โดยวิธีการ คือ ติดสปริงเกอร์ขนาดใหญ่ไว้บนตึกสูงแล้วฉีดพ่นน้ำลงมายังพื้นด้านล่าง เพื่อทำให้ฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศเบาบางลง
ออกมาตรการเกี่ยวกับยานพาหนะระยะสั้น
ยวดยานพาหนะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันผ่านทางท่อไอเสียรถ รัฐบาลจีนจึงออกทั้งนโยบายที่ช่วยลดฝุ่นควันระยะสั้น และนโยบายระยะยาวที่เกี่บวข้องกับการขับขี่ยานพาหนะ โดยแผนระยะสั้น คือ การจำกัดจำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนน โดยกำหนดการวิ่งเป็นวันคู่และวันคี่ในช่วงที่ตรวจวัดค่าฝุ่นแล้วปรากฏว่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
ถึงแม้ว่านโยบายระยะสั้นจะกระทำเฉพาะเมื่อเกิดการกระจายอยู่ของฝุ่นค่อนข้างสูง แต่ก็ถือเป็นมาตรการที่สามาถช่วยให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยไม่กระทบสุขภาพมากนัก และเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนทราบถึงวิกฤตที่มาพร้อมฝุ่น PM2.5
การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะยาวในประเทศจีน
การแก้ปัญหาฝุ่นระยะยาวเป็นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน เห็นผลในอนาคต เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อลดการสะสมของฝุ่น และเป็นการป้องกันการกลับมาของฝุ่นอย่างเห็นผล แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน
สร้างแอปพลิเคชั่นวัดปริมาณฝุ่นในภาคอุตสาหกรรม
แอปพลิเคชั่นที่ได้รับการพัฒนาในประเทศจีนนี้เป็นแอปสำหรับตรวจวัดค่าฝุ่นควันในโรงงานอุตสาหกรรม โดยหากตรวจพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมมีการปล่อยควันเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดจะต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย เป็นมาตรการที่บังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันในระยะยาว
ใช้วัสดุก่อสร้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาคารเป็นสิ่งปลูกสร้างที่คงอยู่เป็นระยะเวลาหลายปี จึงเกิดการพัฒนาวัสดุในการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพในการดูดซับมลพิษในอากาศ ด้วยการเคลือบสารไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide) ที่สามารถกลืนกินและดูดซับสารอันตรายที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศได้
กระตุ้นให้ใช้พลังงานสะอาด
พลังงานสะอาด คือ พลังงานที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สายลม พระอาทิตย์ โดยปกติแล้วพลังงานถ่านหินจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศสูงมาก ทางการจีนจึงเริ่มลดการทำงานของโรงงานถ่านหินลง และกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดทดแทน เพื่อประสิทธิภาพในการลดจำนวนฝุ่น PM2.5 ในอนาคต
ออกมาตรการลดปัญหาฝุ่นควันจากยานพาหนะ
ภาพจาก China Daily
ภาคอุตสาหกรรมเป็น 1 ในผู้ก่อให้เกิดฝุ่นควันจากโรงงาน ในขณะที่ภาคพลเรือนก็ก่อฝุ่นควันผ่านทางยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะ การแก้ปัญหาระยะยาวของจีนเกี่ยวกับยานพาหนะมีหลายแนวทาง หลัก ๆ มีดังนี้
- การซื้อรถเก่ามาทำลายทิ้ง เพราะรถเก่าเป็นตัวการใหญ่ให้เกิดควันดำ
- การสนับสนุนให้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยการเพิ่มสถานีสำหรับชาร์จทั่วเมือง
- การไม่รับจดทะเบียนยานพาหนะที่วัดค่าควันท่อรถแล้วเกินมาตรฐาน
- การขึ้นราคาน้ำมันให้สูงกว่าราคาน้ำมันโลก เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว
- การปรับลดราคารถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้คนหันมาใช้สาธารณะมากขึ้น
การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวเป็นการกระทำที่ไม่ได้ผลในทันที ต้อวรอให้ผ่านระยะเวลาไปสักพัก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคนในรุ่นหลังที่ไม่ต้องพบเจอสภาพฝุ่นละอองเช่นนี้อีก
การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในไทย
เมื่อพูดถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศจีนและเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาแล้วก็ต้องพูดถึงสถานการณ์นี้ในประเทศไทย โดยประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาฝุ่นควันเช่นกัน แต่ไทยเพิ่งรู้จักและตระหนักถึงอันตรายของฝุ่น PM2.5 เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ ดังนี้
การยกปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ
การให้ความสำคัญโดยการยกปัญหาฝุ่น PM2.5 ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนตระหนักถึงอันตรายที่มากับฝุ่นควันเหล่านี้ ซึ่งประชาชนก็เห็นถึงอันตรายและเริ่มมีการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง ขณะที่ภาครัฐก็พยายามหามาตรการที่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ในอนาคต
การเปลี่ยนใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกับรถ ขสมก.
การเปลี่ยนให้รถขนส่งสาธารณะของ ขสมก. เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอีกมาตรการที่รัฐบาลผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซกำมะถันที่เป็นมลพิษทางอากาศ ทำให้ไม่เกิดการเพิ่มของฝุ่น PM2.5
การรณรงค์ลดการเผาป่าและที่นา
การเผาป่าและที่นาเป็นปัญหาหลักในประเทศไทย เพราะเมื่อเกิดการเผาจะเผาโดยพร้อมเพรียงกันเป็นจำนวนมาก และเกิดจุดสีแดงขึ้นเกือบทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ ควันจากการเผาเหล่านี้เป็นอันตรายต่อผู้ที่สูดดม และควันเหล่านี้จะลอยค้างอยู่บนชั้นบรรยากาศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพประชาชน
การกวดขันรถที่ปล่อยควันดำบนท้องถนน
ควันดำจากท่อไอเสียเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐกำลังเร่งรณรงค์ไม่ให้เกิดขึ้น โดยการตัดชกเตือนและมีบทลงโทษทางกฎหมายสำหรับรถที่ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงการมีการงดนำรถออกมาวิ่งบนท้องถนนในอนาคต ในกรณีที่รถคันนั้นปล่อยควันดำออกมาในปริมาณที่มากเกินไป
การพยายามลดจำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนน
รัฐบาลไทยพยายามรณรงค์ให้รถที่วิ่งบนท้องถนนลดจำนวนลง อาจจะยังไม่มีมาตรการวิ่งวันคู่และวันคี่ตามประเทศจีน แต่ก็พยายามผลักดันให้คนใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น รวมถึงการให้ความเชื่อมั่นว่าเมื่อรถไฟฟ้าเสร็จสิ้น ปัญหาฝุ่นควันจะลดจำนวนลง ซึ่งประชาชนก็รอติดตามถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
การฉีดน้ำทั่วบริเวณกรุงเทพมหานคร
การฉีดน้ำจากบนที่สูงลงมายังพื้นด้านล่างเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่รัฐบาลไทยเลือกใช้ เพื่อลดความหนาแน่นของฝุ่นละออง โดยวิธีการนี้เป็นแผนระยะสั้นคล้ายของจีน ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลเพียงชั่วคราว ฝุ่นอาจลดน้อยลงหลังจากการฉีดและจะกลับมาใหม่ในเวลาไม่นาน จำเป็นต้องมีวิธการแก้ไขที่จริงจัง
การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยอาจจะยังไม่มีนโยบายที่เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ถึงแม้การเปลี่ยนให้รถ ขสมก. ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งควรจะเป็นแผนระยะยาว แต่เมื่อเทียบจำนวนรถขสมก. กับรถอื่น ๆ บนท้องถนนถือว่าเป็นจำนวนการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก ประกอบกับค่าโดยสารที่ยังไม่กระตุ้นให้คนสนใจใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทำให้จำนวนรถบนท้องถนนจึงยังคงแออัดเช่นเดิม ส่วนนโยบายอื่น ๆ ไม่มีการระบุบทลงโทษที่ใช้ได้จริง การแก้ปัญหาของไทยจึงเป็นการค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ ยังไม่เจอสิ่งที่เหมาะสมสักทาง มีเพียงการประชาสัมพัฯธ์เกี่ยวกับฝุ่นละอองเท่านั้นที่ได้มาตรฐาน
ภาพจาก Aomlife
ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติทั้งของไทยและจีน แต่จีนพบปัญหานี้มานานและเห็นถึงความสำคัญจนนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งในช่วงแรกก็เต็มไปด้วยเสียงวิพากย์วิจารณ์จากประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ จนการแก้ไขออกมาเป็นรูปธรรมและได้ผล ไทยเองก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ถึงแม้จะยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรม แต่คาดว่าในอนาคตหลังการเรียนรู้การแก้ปัญหาจากเพื่อนบ้าน และการตกผลึกความคิดอาจจะมีแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าเชื่อถือเกิดขึ้น
อ่านเพิ่มเติม:
- คนไทยต้องรู้! ใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น PM2.5 อย่างไรให้ปลอดภัยมากที่สุด ?
- หน้ากาก Airinum กันฝุ่น PM 2.5 ดีไหม ? ราคาเท่าไหร่ หาซื้อได้ที่ไหน ?
- หน้ากากอนามัย T Plus กันฝุ่นละออง PM2.5 ได้ไหม ?
- วิธีเลือกซื้อหน้ากากอนามัยเด็กเล็ก ให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5
- เครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ Xiaomi ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ดีไหม ? ซื้อที่ไหนถูกสุด