ลูกจ้างถูกให้ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีใดบ้าง
ในหน้านี้มีอะไรบ้าง?
เงินชดเชยเลิกจ้าง คือคำค้นหายอดฮิตในกูเกิ้ลตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และดูเหมือนจะเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนที่อยู่ในสถานะลูกจ้างของบริษัทมากขึ้น บางคนไม่เคยรู้เลยว่าหมายถึงอะไร ตนเองมีสิทธิได้หรือไม่ ได้ในกรณีใดบ้าง และหลายคนก็เพิ่งจะมารู้ก็ตอนที่กลายเป็นคนว่างงานจากวิกฤตโควิด-19 หมาด ๆ นี้เอง
วันนี้จึงขออนุญาตมาแนะนำเกี่ยวกับเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างว่าหมายถึงอะไร ใครมีสิทธิได้รับบ้าง ได้เท่าไหร่ มีกรณีใดเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินก้อนนี้หรือไม่ เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าในระบบการจ้างงานนั้นมี 2 บุคคลที่กฎหมายบัญญัติถึงสิทธิหน้าที่อย่างชัดเจนซึ่งก็คือ นายจ้าง และ ลูกจ้าง ดังนี้
นายจ้าง หมายถึง
- นายจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทํางานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทํางานแทนนายจ้างด้วยเช่นกัน ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอํานาจการกระทําแทนนิติบุคคล และ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคลให้ทําการแทนด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือนายจ้างเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เช่น บริษัทจํากัด, ห้างหุ้นส่วนจํากัด ฯลฯ
ลูกจ้าง หมายถึง
- ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทํางานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ไม่คํานึงว่าผู้นั้นจะทําหน้าที่ในตําแหน่งใด และการตกลงนั้นจะเป็นการตกลงโดยตรงกับนายจ้างหรือตกลงโดยปริยายก็ได้ ที่สำคัญมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดามิใช่นิติบุคคล
เพื่อเป็นการกำหนดสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายป้องกันข้อพิพาทที่อาจมีขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างกรณีเลิกจ้าง
เลิกจ้าง หมายถึง
- การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
ค่าชดเชย หมายถึง
- เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
นายจ้างเลิกจ้างแบ่งเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้

1. เลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้มีความผิด
เช่น นายจ้างเลิกกิจการ หรือนายจ้างต้องการลดภาระรายจ่ายเพราะประสบกับภาวะขาดทุน แบบนี้กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง (ที่ทำงานครบ 120 วันขึ้นไป)
2. เลิกจ้างเพราะความผิดของลูกจ้าง
เช่น ลูกจ้างทุจริต ทำผิดกฎหมาย จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฯลฯ กรณีแบบนี้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง
กรณีเลิกจ้าง นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
1. ลูกจ้างสมัครใจขอลาออกเอง
2. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจกระทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง
3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
4. ลูกจ้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
5. ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย และนายจ้างได้เตือนลูกจ้างเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน (หนังสือเตือนมีอายุ 1 ปี นับจากวันที่ลูกจ้างกระทำความผิด)
6. ลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม
7. ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
8. การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนและเลิกจ้างตากำหนดเวลานั้น ๆ
ค่าชดเชยเลิกจ้างมี 2 ประเภท
1. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือมักใช้คำว่า ค่าตกใจ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยในส่วนนี้ล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เช่น หากจ้างกันเป็นเดือนหรือ 30 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นจำนวน 30 วัน
2. ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง
กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดไว้ว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามจำนวนเงินเดือนและอายุการทำงาน ดังนี้
อายุงาน 120 วัน – 1 ปี = ได้รับเงินชดเชยอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
อายุงาน 1 – 3 ปี = ได้รับเงินชดเชยอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
อายุงาน 3 – 6 ปี = ได้รับเงินชดเชยอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
อายุงาน 6 – 10 ปี = ได้รับเงินชดเชยอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
อายุงาน 10 – 20 ปี = ได้รับเงินชดเชยอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
อายุงาน 20 ปีขึ้นไป = ได้รับเงินชดเชยอัตราค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน
และทั้งหมดนี้ก็คือสิทธิของลูกจ้างที่จะต้องได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง และนอกจากนี้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างยังมีสิทธิได้รับเงินอีกหนึ่งก้อนจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นั่นคือ “เงินทดแทนกรณีว่างงาน“ อีกช่องทางหนึ่งด้วยโดยเงื่อนไขการจ่ายมีดังนี้
เงินทดแทนว่างงาน สปส. จ่าย 2 กรณี
1. กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (รวมกรณีถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งภายใน 1 ปี)
2. กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เช่นกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กฎหมายให้เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานเป็นร้อยละ 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน (ยื่นขอรับผลประโยชน์ทดแทนได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ)
ได้ทราบกันไปแล้วเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ่ายเงิดชดเชยเลิกจ้าง อัตราการจ่าย ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายว่ามีอะไรบ้าง รวมไปถึงเงินทดแทนกรณีว่างงานที่ลูกจ้างจะได้รับจากสำนักงานประกันสังคม หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่อยู่ในฐานะทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่มากก็น้อย
อ่านเพิ่มเติม
- ลดเงินสมทบประกันสังคมอีก 3 เดือน ผู้ประกันตน ม.33, ม.39
- เช็คให้ชัวร์ เงินชดเชยกรณีกักตัวโควิดได้เท่าไหร่
- เงินชดเชยรายได้ คือ เงื่อนไขการจ่ายที่ผู้เอาประกันควรรู้
- เงินชดเชย กบข. คืออะไร ใครเป็นผู้จ่าย จ่ายในกรณีใดบ้าง