พร้อมรับมือเหตุแผ่นดินไหว ห่างจากภูเก็ตเพียง 470 กิโลเมตร
ในหน้านี้มีอะไรบ้าง?
คลื่นยักษ์สึนามิยังคงเป็นฝันร้ายในความทรงจำของใครหลายคน ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก แต่ภัยธรรมชาติบางครั้งก็ยากจะหยุดยั้ง นอกจากการเตรียมพร้อมรับมือเท่านั้น จากสถานการณ์แผ่นดินไหวมากกว่า 30 ครั้งที่ผ่านมาในทะเลอันดามัน ทำให้จังหวัดที่อยู่ติดทะเลจะต้องเฝ้าระวังและจับตามองสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะกลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิได้
การเฝ้าระวังแผ่นดินไหวจากเกาะนิโคบาร์ ทะเลอันดามัน
การเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันในช่วงวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 จนตอนนี้เป็นระยะเวลา 3 วันแล้วที่แผ่นดินไหวยังคงส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากประเทศไทยเพียงประมาณ 400 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่ใกล้จุดเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับทะเลอันดามัน
การแจ้งเตือนสึนามิในประเทศไทย
ระบบการเตือนภัยของไทยมีหลายรูปแบบ หลัก ๆ สามารถแบ่งการแจ้งเตือนออกได้ ดังนี้
- ทุ่นเฝ้าระวังจาก NOAA
NOAA คือเครือข่ายในการเฝ้าระวังที่ถูกส่งไปยังหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ ประเทศไทยมีทุ่นทั้งหมด 2 ทุ่น อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ต 965 กิโลเมตรและ 340 กิโลเมตรตามลำดับ โดยทุ่นนี้จะแจ้งเตือนเมื่อมีแนวโน้มเกิดสึนามิ แต่ปัจจุบันทุ่นของไทยทั้ง 2 ทุ่นขึ้นสถานะไม่แจ้งเตือน จึงต้องเฝ้าระวังผ่านมาตรการอื่น ๆ แทน
- เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลน้ำ
การจับตาดูการดปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและปริมาณน้ำนี้ได้จับตาดูผ่านสถานีวัดระดับน้ำทะเลนานาชาติ (IOC) จากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศไทยที่เกาะเมียง จังหวัดพังงา และเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ประจำที่เกาะเมียงและเกาะราชาน้อยยืนยันว่าเครื่องมือมีความพร้อมในการทำงานและแจ้งเตือนได้ทันทีหากเกิดคลื่นสึนามิ
- หอเตือนภัยสึนามิ
การติดตั้งหอเตือนภัยนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถอพยพได้ทันเวลา ซึ่งหอเตือนภัยควรต้องแจ้งเตือนก่อนการเกิดคลื่นสึนามิประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้อพยพออกจากพื้นที่ได้ทัน
ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังคงมั่นใจว่าระบบตรวจวัดระดับน้ำทะเลยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะแจ้งเตือนภัยได้ทันเวลา ขอเพียงพี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารตลอด
ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกาะนิโคบาร์
เกาะนิโคบาร์เป็นเกาะในเขตพื้นที่ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากประเทศไทยไม่มาก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวไทยจึงรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวมถึงคลื่นทะเลสูงขึ้นจากการไหวของแผ่นดินในครั้งนี้ สำหรับความรุนแรงของแผ่นดินไหวจับความแรงได้ที่ 4.8 ที่ความลึก 87 กิโลเมตร (รายงานเมื่อเวลา 14.48 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2565) ซึ่งหากแรงสั่นสะเทือนมากกว่า 7 มีโอกาสที่จะเกิดสึนามิสูง
ผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรงมากต่อเนื่องกันหลายครั้งแบบนี้สามารถเป็นได้ทั้งการค่อย ๆ ปล่อยพลังออกมา ซึ่งในกรณีนี้จะเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่มีสึนามิ กับอีกกรณีคือเป็นการปล่อยพลังงานลูกเล็กก่อนที่จะปล่อยแผ่นดินไหวลูกใหญ่ที่มีความแรงมากกว่า 7 และเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำหรือสึนามิ
สึนามิเป็นภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และพร้อมอพยพทันทีหากได้รับสัญญาณเตือนสึนามิ
5 จังหวัดริมทะเลอันดามันที่ต้องเตรียมพร้อม
การเกิดสึนามิในครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เกาะนิโคบาร์ในทะเลอันดามัน จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับทะเลอันดามันและได้รับผลกระทบจากสึนามิครั้งก่อน ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล ทั้ง 5 จังหวัดนี้ควรเตรียมพร้อมให้มากและรับฟังข่าวสารจากภาครัฐ หากเป็นไปได้ควรอยู่บนที่สูงเอาไว้เพื่อความปลอดภัย
สึนามิในปี 2547 ยังคงเป็นฝันร้ายในใจของคนไทย การเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ดีกว่าครั้งก่อนมาก หวังว่าจะไม่มีความสูญเสียร้ายแรงดังที่ผ่านมา
ข้อมูล TNN Thailand | กรุงเทพธุรกิจ | PPTV
อ่านเพิ่มเติม:
- “DPM Reporter” แอพเตือนภัยพิบัติให้ประชาชนโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- 10 อุปกรณ์เอาชีวิตรอด สำหรับนักเดินทาง หลงป่า หลงถ้ำ และภัยพิบัติธรรมชาติ
- เช็คเลย พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ช่องทางช่วยเหลือน้ำท่วม
- 10 ไอเทม ช่วยชีวิต รับมือ แผ่นดินไหว ควร มีอะไรบ้าง?
- แอป Thai Disaster Alert แจ้งเตือนข่าวแบบเรียลไทม์จาก ปภ.