บีทีเอสชี้แจง เข้าได้ทั้ง 4 แถว แต่ขอให้คนในขบวนออกก่อน
คนไทยเรามี รถไฟฟ้าบีทีเอสใช้กันมาเกือบ 20 ปีแล้ว และเมื่อก่อนจำนวนผู้โดยสารก็อาจจะยังไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ (หมายถึงต่อรอบการเดินทาง) ก็มีการเข้าคิวกันตามปกติ ใครมาก่อนขึ้นก่อน มาทีหลังก็ต่อแถวกันไป และการเพิ่มลูกศร 4 ตัว บนพื้นก่อนราวกั้นนั้นก็กลายเป็นมาตรฐานที่ทำให้รถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ต้องเพิ่มตาม เพื่อที่จะจัดการระเบียบช่วงเวลาเร่งด่วนให้ผู้โดยสารไม่เดินชนกันจนเกิดปัญหา มาดูกันว่าลูกศรแบบนี้ควรยืนต่อคิวอย่างไร?
การเข้าคิวรถไฟฟ้า
เรราจะสังเกตเห็นสัญลักษณ์ศรเข้าคิว ได้จากรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง และในอนาคต รถไฟฟ้าอีกหลาย ๆ สีที่ใกล้จะเสร็จก็คงจะต้องใช้วิถีปฏิบัติเช่นเดียวกัน ซึ่งแผนภาพนี้ควรอยู่ในการประชาสัมพันธ์บนสื่อในรถโดยสารเพื่อให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะตรงประตูไม้กั้นราวกับชานชาลา และในขบวนรถ
วิธีการเข้าแถว มีดังนี้
- ผู้ที่มาก่อนควรยืนหลังเส้นสีเหลือง ตรงหมายเลข 1 (ไม่ควรยืนเว้นระยะใกล้หรือไกลเกินไปจนคนข้างหลังไม่ทราบว่าคุณต่อคิวอยู่หรือเปล่า) โดยเว้นระยะให้ผู้โดยสารภายในขบวนรถออกมาง่าย ๆ
- ผู้ที่มาคนที่ 2 ควรยืนเข้าคิวตรงลูกศร ตำแหน่งหมายเลข 2 ไม่ใช่ตำแหน่งที่ 4
- ผู้ที่มาคนที่ 3 ควรต่อแถวคนที่อยู่ในตำแหน่งที่ 1
- ควรต่อแถวเข้าคิวแบบสับหว่างกันต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
- เมื่อรถมาถึงประตูตรงหน้า ให้ผู้โดยสารด้านในออกก่อนเพื่อลดความวุ่นวายบนสถานี
- รอจนผู้โดยสารด้านในออกหมดคนสุดท้ายแล้ว ผู้ที่ยืนตำแหน่งที่ 1 กับ 2 จึงทยอยกันเดินเข้าไป
และปัญหาอื่น ๆ ที่มักเกิดขึ้นกับการโดยสารถไฟฟ้า ก็คือ
- ผู้โดยสารด้านในยังออกไม่หมด ผู้โดยสารข้างนอกกรูกันเข้าไปทำให้ขบวนล่าช้า
- เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษไม่สามารถออกจากขบวนรถได้เนื่องจากออกมาไม่ทัน ในสถานีที่คนเยอะ ๆ
- ช่วงเวลาเร่งด่วน คนแน่น ๆ มองไม่เห็นหญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้ที่นั่งอยู่ตรงเก้าอี้ Priority Seat ควรตระหนักว่าต้องพร้อมลุกให้กับผู้ที่ต้องการที่นั่งอยู่ตลอดเวลา
- ช่วงเวลาเร่งด่วนมักเบียดเสียดกัน เกิดการไอจามรดกันได้ ดังนั้นควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย เพื่อป้องกันตัวเองจากคนรอบข้าง
ในกรณีที่เป็นรถไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ BTS มักเกิดปัญหาการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารต่างชาติ ทำให้บางครั้งเรื่องการต่อแถว และการลุกให้ผู้ที่ควรต้องการที่นั่งนั้นเข้าใจไม่ตรงกัน
และเหตุผลที่เราควรใส่หน้ากากอนามัย นอกจาก เชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ที่กำลังระบาดอยู่นี้ เราสามารถป้องกันโรคไข้หวัด และโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้อีกด้วย หากไม่ได้สวมหน้ากากทางการแพทย์ ก็เลือกสวมหน้ากากผ้าได้ในช่วงเวลาที่ไม่มีการระบาดของโรค แต่หากเป็นช่วงฤดูหนาว ที่มักมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ก็ควรสวมหน้ากากทุกครั้งที่ขึ้นรถไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะเพื่อป้องกันตัวเองค่ะ
อ่านเพิ่มเติม
- รถไฟฟ้าสายสีเหลือง วิ่งเส้นทางไหน? พร้อมเปิดให้บริการเมื่อไหร่?
- ปี 2563 คนไทยจะได้ใช้ รถไฟฟ้าไร้คนขับ กับเส้นทางไหนบ้าง?
- รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลดราคา 3 เดือน 2563