ม.ออกซ์ฟอร์ด ยัน Astrazeneca เข็มกระตุ้นเอา Omicron อยู่
ในหน้านี้มีอะไรบ้าง?
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแถลงว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอย่างมีนัยสำคัญ หลังใช้ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่สาม (เข็มบูสเตอร์โดส) ได้ผลในระดับเดียวกับใช้ฉีดเข็มที่สองต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า
Astrazeneca เข็มสาม กระตุ้นแอนติบอดีได้ 6 เท่า
ข้อมูลในห้องทดลองบ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มบูสเตอร์นั้นมีประสิทธิภาพสูงสามารถเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน SARS-CoV-2 (B.1.1.529) ได้มาก เมื่อเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหลังฉีดเข็มที่ 2 โดยยืนยันว่าระดับแอนติบอดีหลังฉีดเข็มกระตุ้นนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่พบในผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วจากโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมทั้ง อัลฟา เบต้า และเดลต้า

นอกจากนี้การวิเคราะห์ย่อยพบว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากการได้รับวัคซีนครับสองเข็มไปแล้ว 6 เดือน เมื่อฉีดเข็มกระตุ้นสามารถเพิ่มระดับแอนติบอดีได้มากถึง 6 เท่าและรักษาการตอบสนองของทีเซลล์ให้อยู่ในระดับเดิม
สำหรับการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในครั้งได้วิเคราะห์จากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว รวมถึงผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวล มาเทียบเคียงกับตัวอย่างเลือดของผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบสามเข็มจำนวนทั้งสิ้น 41 คน
แพทย์ยันวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
ศาสตราจารย์ เซอร์ จอห์น เบลล์ ราชศาสตราจารย์ (Regius Professor) ด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “การค้นพบว่าวัคซีนโควิดที่ใช้ในปัจจุบันหากฉีดเป็นเข็มกระตุ้น มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ถือเป็นข่าวดี และผลการศึกษาในครั้งนี้เป็นเครื่องมือสนับสนุนแนวทางปฎิบัติของหลายประเทศที่ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ในเวลานี้ เป็นการยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลรวมถึงโอมิครอนด้วย”
ขณะที่ เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า “วัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้ามีบทบาทสำคัญช่วยเสริมภูมิคุ้มกันผู้คนทั่วโลกนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม”
แผนการขั้นต่อไปของแอสตร้าเซนเนก้า
ในขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้าอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมโดยบริษัทกำลังเก็บข้อมูลการใช้งานจริงเพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อสายพันธุ์โอมิครอนร่วมกับนักวิชาการจากแอฟริกาใต้ รวมทั้งวิเคราะห์เลือดของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดลองระยะสอง/สาม เพื่อทำการประเมิณประสิทธิภาพในการลบล้างเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนหลังการฉีดเข็มกระตุ้น
สถานการณ์โอมิครอนทั่วโลก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ “Omicron” (23 ธ.ค.64) พบผู้ติดเชื้อสะสมจากทั่วโลกรวมเป็น 122,245 คน เสียชีวิตสะสม 18 ราย ปัจจุบันการระบาดกระจายไปยัง 100 ประเทศทั่วโลก โดยสหรัฐพบผู้ป่วยกระจายครบ 50 รัฐแล้ว ผู้ป่วยใหม่ 267,269 ราย เสียชีวิตสูงถึง 1,149 คน ขณะที่สหราชอาณาจักรติดเชื้อ 119,789 ราย รัสเซีย 25,667 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 1,002 ราย
สถานการณ์โอมิครอนในเอเชียและไทย
สำหรับทวีปเอเชียผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มตามยุโรปและสหรัฐฯ โดยมาเลเซียพบผู้ติดเชื้อ 3,510 ราย เมียนมา 276 ราย สิงค์โปร์ 322 ราย ญี่ปุ่น 267 ราย ส่วนประเทศไทยมีรายงานว่าพบผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอน 205 ราย (24 ธ.ค.64) โดยที่เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.เพิ่งจะพบผู้ป่วยเพียง 104 รายเท่านั้น
สรุปแล้วก็คือจากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าหากนำมาฉีดเป็นเข็มกระตุ้นจะป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าหลังฉีดเข็มกระตุ้น 6 เดือนจะสามารถเพิ่มระดับแอนตีบอดีได้สูงถึง 6 เท่า
ที่มา : astrazeneca
อ่านเพิ่มเติม
- ยกเลิก Test & Go สกัดโควิดโอมิครอน รายละเอียดเป็นอย่างไร
- ปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรายใหม่ 2 สัปดาห์ หวั่นโอมิครอน
- WHO แจ้งเตือน โอมิครอน อาจกลายพันธุ์ หลบภูมิคุ้มกันวัคซีนได้
- กทม.ยกเลิกจัดงานปีใหม่-สวดมนต์ข้ามปี หลัง “โอไมครอน” ระบาดหนัก