สิทธิของคนไทย…
ยามเจ็บป่วย ไม่สบาย ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน เชื่อเถอะว่าหลาย ๆ คน ไม่อยากจะหยุดพักหรือไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาเลยทีเดียว เพราะหวั่นใจว่า ค่ารักษาแต่ละครั้งจะบานปลาย เกินกว่าเงินที่มีสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการผลักดันเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หนึ่งในสิทธิประชาชน ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญ และประโยชน์ของ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เราจะพาไปดูกันว่า กองทุนฯ นี้มีที่มาอย่างไร ? ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านใดบ้าง
กองทุนหลักประกันสุขภาพ คืออะไร ?
ตามที่ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิต แต่การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ว่านี้ จำต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น…
- ค่าตรวจวินิจฉัยโรค
- ค่ายา
- ค่าเวชภัณฑ์
- ค่าอวัยวะเทียม
- ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์
- ค่ารถพยาบาล ฯลฯ
จึงจัดให้มี “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สร้างหลักประกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนไทย
นอกจากนี้ ยังมี “สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สิทธิ 30 บาท” (สิทธิบัตรทอง) ที่คุ้มครองคนไทย ที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรัฐวิสาหกิจ หรือสิทธิหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ให้มีสิทธิเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล
กองทุนหลักประกันสุขภาพ สมัครได้ที่ไหน
พอจะเห็นภาพคร่าว ๆ รวมถึงประโยชน์ของประชาชนคนไทยที่ได้รับจาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” กันแล้ว ฉะนั้น คงต้องบอกว่า สำหรับผู้ที่สนใจสมัครกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คุณไม่จำเป็นต้องไปติดต่อยื่นใบสมัครที่ไหน เพียงคุณเป็นคนไทยเท่านี้ คุณก็ได้สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิอันพึงมีในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
และสำหรับผู้ที่สงสัยว่า สิทธิรักษาพยาบาลของตนเองคือที่ไหน ? สามารถดำเนินการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
(1) ติดต่อด้วยตนเองได้ที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านหรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับผู้พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อสำนักงานเขตของ กทม. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม.
(2) บริการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบอัตโนมัติ
- โทร 1330 กด 2 ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ค่าบริการ 3 บาท/ครั้ง)
- ผ่านทาง www.nhso.go.th
READ MORE :
- เช็คก่อน ผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาในไทย ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ?
- จดไว้ ! สายด่วนประกันสังคม 2563 – วิธีติดต่อสำนักงานประกันสังคม
- วิธีเช็คเงินชราภาพประกันสังคมในมือถือทำยังไง ?
- เรื่องน่ารู้ ผู้ถือบัตรทอง กับ การรักษาโรคเบาหวาน
- สปสช. เพิ่มสิทธิตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ให้กับผู้ถือบัตรทอง เริ่มปี 2563