ระวังไว้ช่วงหน้าฝน
ตามที่ทราบกันดีว่าพอเข้าสู่ฤดูฝนของไทย มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากมายทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม สัตว์มีพิษเข้าบ้าน หรือกระทั่งไฟดูดไฟซ็อต โดยช่วงที่ผ่านมามีข่าวน้ำท่วมทั้งและผู้คนโดนไฟดูดจำนวนไม่น้อย เห็นได้จากภาพเหตุการณ์คนนอนอยู่กลางน้ำท่วมซึ่งคาดว่าถูกไฟดูดขณะเอามือไปแตะเสาไฟฟ้า กระทั่งมีพลเมืองดีเข้าช่วยผู้ประสบเหตุ โดยใช้ร่มดึงตัวออกจากเสาไฟฟ้า ก่อนเร่งลากตัวออกมาห่างจากที่เกิดเหตุ แม้เคสนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทันท่วงที แต่มีโอกาสเกิดเหตุซ้ำได้อีก หลังกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนกว่า 50 จังหวัดทั่วไทย เจอฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2565 และเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน วันนี้ Promotions.co.th จะมาแนะนำวิธีช่วยคนถูกไฟดูดอย่างถูกต้องกัน
แนะวิธีเอาตัวรอด ป้องกันไฟดูดช่วงน้ำท่วม
เมื่อฝนตกหนักสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังไม่ได้มีแค่ฟ้าผ่าหรือน้ำรอการระบาย ผู้คนยังต้องระมัดระวังเรื่องไฟฟ้ารั่วที่สามารถเกิดขึ้นทั้งในที่พักอาศัยหรือบนท้องถนน เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยตลอดฤดูฝนนี้ ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้แนะนำเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขังไว้ ดังนี้
กรณีน้ำท่วมบ้าน
(1) หลายหมู่บ้านหรือบางพื้นที่อาจมีประกาศเตือนเรื่องน้ำท่วม ซึ่งถ้าคุณได้รับการแจ้งเตือนว่าอาจมีน้ำท่วมเข้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน ให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึงทันที ส่วนพื้นที่ไหนที่ไม่มีประกาศเตือน แนะนำให้ลองติดตามข่าวสารเรื่องพยากรณ์ฝนตก ตลอดจนหาข้อมูลย้อนหลังว่าพื้นที่ที่คุณพักอาศัยเคยมีน้ำท่วมหรือไม่ จะได้วางแผนรับมือทันท่วงที
(2) กรณีบ้านชั้นเดียวให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิตช์ไฟด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอาจอยู่เหนือระดับน้ำ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมห้ามใช้งานเด็ดขาด ดังนั้นใครที่เห็นคอนเทนต์คนนอนแช่น้ำท่วมบ้านดูทีวี แนะนำว่าห้ามทำตามเด็ดขาด
(3) กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง แนะนำให้รีบปลดสวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่างทันที
(4) กรณีบ้านถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน แนะนำให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบนเท่านั้น พร้อมประสานงานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าให้ช่วยมาปลดสวิตช์ที่ชั้นล่างให้เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้า เพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง

กรณีน้ำท่วมถนน
(1) เมื่อต้องสัญจรไปมาในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ไม่ว่าระดับน้ำสูงมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ต้องพึงระวังคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสเสาไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายอย่างน้อย 2-3 เมตร เพื่อความปลอดภัย
(2) หากพบเห็นสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้มหรือสายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ ให้รีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการแก้ไขทันที
แนะวิธีช่วยเหลือคนถูกไฟดูดอย่างปลอดภัย
แม้พยายามป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเหตุการณ์ไฟดูด ไฟรั่ว และไฟช็อต ที่มีโอกาสทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ แต่ถึงอย่างนั้นการเรียนรู้วิธีช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ส่วนวิธีปฐมพยาบาลและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเบื้องต้น มีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน
(1) ผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะต้องตั้งสติ พร้อมโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ผ่านสายด่วน 1669 ทันที
(2) จำไว้เสมอว่าห้ามสัมผัสตัวผู้ถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่าเด็ดขาด ควรใช้วัสดุที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้าป้องกันตัวก่อน เช่น ถุงมือยาง ผ้าแห้ง พลาสติกแห้ง หรือร่มกันฝน เป็นต้น
(3) ต้องตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที โดยปิดสวิตช์ ปลดปลั๊กไฟ และสับคัตเอาท์ หากไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ ให้นำวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง หนังสือพิมพ์ เป็นต้น เขี่ยสายไฟให้หลุดจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด หรือใช้เชือกคล้องและดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดให้หลุดจากบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยผู้เข้าช่วยเหลือต้องยืนบนพื้นแห้ง และสวมรองเท้ายาง ยกเว้นเป็นสายไฟแรงสูง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย
(4) จากนั้นให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในพื้นที่ปลอดภัย เพราะบางครั้งสถานที่ที่ถูกไฟช็อตอาจอยู่ใกล้ป้ายโฆษณา หรือต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายซ้ำได้ โดยต้องเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธีด้วย เพราะบางครั้งการเคลื่อนย้ายอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติต้องพิจารณาว่า ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจหรือไม่ หากหยุดหายใจต้องรีบทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันที โดยจัดให้ผู้ถูกไฟฟ้าดูดนอนบนพื้นราบ จากนั้นทำการผายปอดและนวดหัวใจ จนกว่าผู้ถูกไฟฟ้าดูดจะหายใจเองได้ พร้อมรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
READ MORE :
- รวมไอเดียแต่งตัวหน้าฝนสไตล์เกาหลี ให้ลุคดูดีแม้ในวันฝนตก
- ขับรถลุยน้ำท่วมเป็นไรไหม เรื่องใกล้ตัวที่คนมีรถต้องรู้ ป้องกันรถพัง
- สเปรย์รองเท้ากันน้ำ ยี่ห้อไหนดี พายุเข้าแต่รองเท้าต้องสะอาด
- แนะนำเสื้อกันฝนขี่มอเตอร์ไซค์ ราคาไม่แพง ตัวช่วยในวันฝนตก