วิธีย้ายสิทธิบัตรทอง ไม่ยากอย่างที่คิด
สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง เป็นสิทธิรักษาพยาบาลที่คุ้มครองบุคคลสัญชาติไทยและเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรัฐวิสาหกิจ หรือสิทธิอื่น ๆ จากภาครัฐ
ตามปกติผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถใช้สิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ตนมีสิทธิอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลในพื้นที่ที่อาศัยของผู้มีสิทธิบัตรทองนั่นเอง แต่หากผู้มีสิทธิบัตรทองมีความประสงค์จะย้ายสิทธิบัตรทอง หรือเปลี่ยนสถานพยาบาลบัตรทองก็สามารถทำได้ โดยผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถย้ายหน่วยบริการได้สูงสุด 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ
ส่วนวิธีการย้ายสิทธิบัตรทอง แต่ไม่ย้ายทะเบียนบ้าน ต้องทำอย่างไร ? เอกสารที่จำต้องใช้ เพื่อประกอบการพิจารณามีอะไรบ้าง และหลังดำเนินการกี่วัน ถึงใช้สิทธิบัตรทองได้ ตามไปหาคำตอบกัน

ย้ายสิทธิบัตรทอง แต่ไม่ย้ายทะเบียนบ้าน ต้องทำอย่างไร ?
เบื้องต้น ผู้ที่มีความประสงค์ย้ายโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง เพียงเตรียมเอกสารให้ครบ จากนั้นเดินทางไปยังจุดบริการ เพื่อยื่นเอกสารพร้อมกรอกเอกสารขอเปลี่ยนหน่วยบริการ
ย้ายสิทธิบัตรทอง ใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
กรณีที่พักอาศัยตรงตามที่อยู่ในบัตรประชาชน
(1) สำเนาบัตรประชาชน
(2) ใบขอเปลี่ยนหน่วยบริการ (เอกสารขอเปลี่ยนหน่วยบริการมีให้ที่จุดขอย้าย)
ทั้งนี้ ถ้าให้บุคคลอื่นไปยื่นเรื่องแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจไปยื่นแก่เจ้าหน้าที่ด้วย
กรณีย้ายสิทธิบัตรทอง แต่ไม่ย้ายทะเบียนบ้าน
(1) สำเนาบัตรประชาชนของเราและใบขอเปลี่ยนหน่วยบริการย้ายสิทธิบัตรทอง
(2) ทะเบียนบ้านของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง
(3) เอกสารยืนยันการพักอาศัย ข้อใดข้อหนึ่ง
- ให้เจ้าบ้านรับรองโดยใช้ หนังสือรับรองพักอาศัยจริงจากเจ้าบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน
- ให้ผู้นำชุมชนรับรองให้ โดยใช้หนังสือรับรองผู้นำชุมชน และสำเนาบัตรประชาชนของผู้นำชุมชน
- ให้ผู้ว่าจ้างรับรองให้ โดยใช้หนังสือรับรองผู้ว่าจ้าง และสำเนาบัตรประชาชนผู้ว่าจ้าง
- ไม่ต้องให้ใครรับรองให้ โดยใช้เอกสารยืนยันตัวเอง อาทิ บิลค่าน้ำ ค่าไฟ สัญญาเช่าที่มีชื่อตนเอง
ย้ายสิทธิบัตรทอง ต้องไปยื่นเอกสารที่ไหน ?
สำหรับผู้ที่พักอาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถไปดำเนินการยื่นเรื่องย้ายสิทธิบัตรทอง ณ สำนักงานเขต ทั้ง 19 แห่ง ประกอบด้วย
- สำนักงานเขตคลองเตย, คลองสามวา, ธนบุรี, บางกะปิ, บางขุนเทียน, บางแค, บางพลัด, ประเวศ, พระโขนง, มีนบุรี, ราชเทวี, ราษฎร์บูรณะ, ลาดกระบัง, ลาดพร้าว, สายไหม, หนองแขม, หนองจอก, หลักสี่ และห้วยขวาง
สำหรับผู้ที่พักอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ต้องไปติดต่อย้ายสิทธิบัตรทอง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้ที่พัก
ย้ายสิทธิบัตรทอง กี่วันใช้ได้ ?
เมื่อทำเรื่องย้ายสิทธิบัตรทองแล้ว จะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน สิทธิบัตรทองจะได้รับการปรับอัตโนมัติ ทุกวันที่ 15 กับ 28 ของทุกเดือน
ที่มา : สำนักงานหลักประกันสังคมสุขภาพแห่งชาติ
READ MORE :
- เปิดสิทธิประโยชน์ “บัตรทอง” 2563 ครอบคลุมไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ?
- ประกาศ ! ประกันสังคม เลื่อนจ่ายเงินเยียวยา 15,000 บาท ผู้ประกันตน ม.33
- เริ่มแล้ว ! ผู้ป่วยบัตรทอง 4 โรค รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
- สปสช. เพิ่มสิทธิตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ให้กับผู้ถือบัตรทอง เริ่มปี 2563
- หาก สปสช. ตัดงบบัตรทอง!! แล้วเราจะได้รับผลกระทบอะไรกันบ้าง?
- บัตรทอง คุ้มครองค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ? อยากสมัครต้องทำอย่างไร ?