ปัญหาเด็กติดในรถ ให้ลูกน้อยรู้วิธีเอาตัวรอดไว้อุ่นใจกว่า
เด็กถือเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ วัยกำลังเติบโตและวัยที่ควรต้องดูแลเฝ้าระมัดระวังอย่างใกล้ชิด เพราะอุบัติเหตุหรือเรื่องไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งล่าสุดก็เกิดข่าวสลดขึ้นอีกครั้งเมื่อมีเด็กอายุ 7 ปีถูกลืมไว้บนรถตู้รับส่งของโรงเรียนตั้งแต่เช้าจนพบว่าเสียชีวิตในช่วงเย็นของวัน ในจังหวัดชลบุรี โดยผลชันสูตรเบื้องต้นพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ส่วนเลือดที่ปากน่าจะเกิด จากอาการฮีตสโตรก เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์เด็กติดในรถยนต์จนต้องเกิดความสูญเสียอีกครั้ง เพื่อเป็นการสอนลูกน้อยให้รู้จักเอาตัวรอดหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้ ผู้ปกครองควรมีการสอนวิธีเอาตัวรอดเบื้องต้นหรือการขอความช่วยเหลือเบื้องต้นที่เด็กควรรู้และจดจำง่าย ๆ ซึ่ง Promotions.co.th จะมาแนะนำวิธีสอนลูกน้อยเบื้องต้นในสถานการณ์หากติดอยู่บนรถ
แนะนำการสอนลูกน้อยให้รู้จักเอาตัวรอดและวิธีขอความช่วยเหลือเมื่อติดอยู่ในรถ

1 สอนลูกน้อยบีบแตรขอความช่วยเหลือ
การบีบแตรรถยนต์ถือเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ เนื่องจากรถยนต์การบีบแตรไม่จำเป็นต้องสตาร์ทรถก็สามารถกดให้เกิดเสียงได้ ซึ่งควรสอนให้ลูกน้อยยามเกิดเหตุการณ์เช่นนี้สิ่งแรกที่ควรทำคือไปยังพวงมาลัยรถเพื่อบีบแตรขอความช่วยเหลือ อาจบีบลากยาวเพื่อเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ
2 สอนการปลดล็อครถ
แน่นอนว่ารถแต่ละคันจะมีรูปแบบการปลดล็อคภายในรถยนต์ที่แตกต่างกันออกไป แต่หากสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการปลดล็อครถในแบบต่าง ๆ จะช่วยทำให้เด็กสามารถออกจากรถหรือเปิดแง้มเพื่อตะโกนขอความช่วยเหลือได้
3 สอนวิธีการเปิดประตูรถ
สิ่งคำคัญคือสอนให้รู้จักการเปิดประตูรถจากด้านใน บอกตำแหน่งของประตูรถว่าอยู่ตรงไหน สังเกตจากอะไร เพราะหากทำการปลดล็อคประตูได้แล้ว หรือหากประตูรถไม่ได้ล็อคเด็กจะได้สามารถเปิดออกมาด้วยตัวเองได้ หรือหากประตูรถมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมากเด็กไม่สามารถเปิดออกเองได้ทั้งหมด ก็จะสามารถช่วยแง้มเพื่อตะโกนขอความช่วยเหลือได้
4 สอนเปิดไฟฉุกเฉิน
หนึ่งสิ่งที่สามารถดึงความสนใจจากคนรอบข้างเพื่อเป็นการขอความช่วยเหลือในกรณีที่ลูกน้อยติดอยู่ในรถยนต์ได้นั่นคือ การเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เพราะเป็นสัญญาณที่สามารถกดเปิดได้แม้ไม่ได้สตาร์ทรถก็ตาม
5 ฝึกให้ลงมือทำ
การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เด็กได้เห็นภาพ เห็นเหตุการณ์ เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น พาลูกไปเช็คตำแหน่งแตรรถยนต์ว่าอยู่ตรงไหน หรือกดตรงไหน ให้เด็กทดลองกดเพื่อให้เกิดเสียง บอกตำแหน่งที่ปลดล็อคประตูรถ ทดลองให้เด็กเปิดประตูรถเองจากด้านใน บอกตำแหน่งของปุ่มไฟฉุกเฉิน เป็นต้น
6 พกอุปกรณ์สำหรับติดต่อฉุกเฉิน
แน่นอนว่าการติดต่อสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งสำหรับเด็กในยุคนี้กับเทคโนโลยีเครื่องมือติดต่อสื่อสารถือเป็นสิ่งของคู่กัน หากไม่ต้องการให้ลูกน้อยใช้สมาร์ทโฟนสามารถเลือกเป็นสมาร์ทวอทช์สำหรับเด็กที่สามารถโทรเข้าโทรออกได้ ยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินลูกน้อยจะได้กดโทรหาคุณพ่อคุณแม่ได้ทันที หรือเลือกเขียนเบอร์โทรคุณพ่อคุณแท่ ผู้ปกครองติดกระเป๋าเด็กไว้ยามเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ทันท่วงที
ปัญหาเด็กติดในรถยนต์มีเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดดังนั้นการให้ลูกน้อยได้รู้จักเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น ในยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้จะช่วยทำให้เด็กสามารถขอความช่วยเหลือได้ ที่สำคัญสำหรับผู้ปกครองหรือผู้ที่ต้องดูแลใกล้ชิดเด็ก ทุกครั้งหลังลงจากรถควรตรวจเช็คทุกครั้งว่าลูกหลานหรือเด็กในความดูแลของคุณลงจากรถแล้วหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
READ MORE :
- อาการโรคเฮอร์แปงไจน่า โรคระบาดในเด็กที่ผู้ปกครองต้องระวัง
- 5 น้ำยาปรับผ้านุ่มกลิ่นแป้งเด็ก หอมสะอาดอ่อนโยนต่อผิว
- การ์ตูนญี่ปุ่น ยุค 90 สนุกๆ มีอะไรบ้าง ย้อนความทรงจำวัยเด็ก
- ขวดน้ำเด็กไปโรงเรียน แบบไหนดี พกพาสะดวก วัสดุแข็งแรง